Trending News

Blog Post

ทดสอบตัวแสดง "โขน" มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ปี 65 รามเกียรติ์ ตอน "สะกดทัพ"
ไลฟ์สไตล์

ทดสอบตัวแสดง "โขน" มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ปี 65 รามเกียรติ์ ตอน "สะกดทัพ" 

มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จัดทดสอบความสามารถนักแสดงรุ่นใหม่ เพื่อร่วมในการแสดง โขน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ปี 2565 เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน “สะกดทัพ” โดยผู้เข้าร่วมทดสอบจะได้รับบทบาทตามความสามารถ ใน 5 ตัวละคร ได้แก่ ละครพระ, ละครนาง, โขนพระ, โขนลิง และโขนยักษ์

มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดให้มีการทดสอบความสามารถนักแสดงรุ่นใหม่ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสดง โขน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ปี 2565 เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน “สะกดทัพ” มาร่วมทดสอบความสามารถในครั้งนี้ โดยผู้เข้าร่วมทดสอบจะได้รับบทบาทตามความสามารถ ใน 5 ตัวละคร ได้แก่ ละครพระ, ละครนาง, โขนพระ, โขนลิง และโขนยักษ์

คู่พระ-นาง

 

สำหรับการทดสอบความสามารถนักแสดงในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก คณะกรรมการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ศิลปินแห่งชาติ และผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ นายประเมษฐ์ บุณยะชัย คณะกรรมการและศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์-โขน) พุทธศักราช 2563 ร่วมด้วยคณะกรรมการอีก 3 ท่าน ได้แก่ ดร.อนุชา ทีรคานนท์, ดร.สุรัตน์ จงดา และ ดร.เกิดศิริ นกน้อย พร้อมทั้ง ศิลปินแห่งชาติ ได้แก่ นางรัตติยะ วิกสิตพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฎศิลป์ไทย) พุทธศักราช 2560, นางรัจนา พวงประยงค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฎศิลป์ไทย) พุทธศักราช 2554 และนายไพฑูรย์ เข้มแข็ง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฎศิลป์-โขน) พุทธศักราช 2564 อีกทั้ง ผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ นายสมศักดิ์ ทัดติ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนาฏศิลป์ไทย (โขนยักษ์) และนายวิโรจน์ เข้มแข็ง ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนาฏศิลป์ไทย (โขนลิง) ร่วมเป็นคณะกรรมการในการคัดเลือก ณ วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง ต.บางแก้ว อ.เมือง จ. อ่างทอง

 

นายประเมษฐ์ บุณยะชัย

 

นายประเมษฐ์ บุณยะชัย คณะกรรมการและศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์-โขน) พุทธศักราช 2563 เผยถึงการแสดง โขน ซึ่งเป็นการให้โอกาสแก่คนรุ่นใหม่ และการสร้างงานสร้างอาชีพ ว่า การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในแต่ละครั้ง กว่าจะสำเร็จได้ผู้เชี่ยวชาญ ครู และศิษย์ต่างมุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดศาสตร์และศิลปะการแสดงให้โลดแล่น เป็นที่เลื่องลือ ยิ่งไปกว่านั้น คนทำงานทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลัง ก็ได้มีโอกาสได้ฝึกปรือจนมีฝีมือ มีอาชีพ มีความภาคภูมิใจ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่คู่แผ่นดินสืบไป

 

ดร.อนุชา ทีรคานนท์

 

ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณะกรรมการจัดการแสดง โขน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ กล่าวว่า “เป็นเวลา 2 ปีแล้วที่การแสดงโขนห่างหายจากเวที แฟนโขนก็คงคิดถึงการแสดงโขนมูลนิธิฯ อีกทั้งปีนี้ยังเป็นปีมหามงคลที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา ก็ถือว่าการแสดงโขนครั้งนี้ได้มาสนองพระราชดำริในการที่จะฟื้นฟู ทำนุบำรุงการแสดงโขนให้คงอยู่สืบไป อีกทั้งเมื่อปี 2461 การแสดงโขนได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ จึงถือเป็นความรับผิดชอบของเราทุกคนที่ต้องธำรงรักษาให้โขนสืบทอดไปสู่คนต่อไป และไม่เพียงนักแสดงที่ร่วมสืบทอดศิลปะโขนแล้ว แม้แต่ผู้ที่มาชมการแสดงโขน ก็ถือว่าได้ทำหน้าที่ในบทบาทเจ้าของมรดกทางวัฒนธรรมนี้ร่วมกันอีกด้วย”

 

ดร.เกิดศิริ นกน้อย

 

ดร.เกิดศิริ นกน้อย ผู้ช่วยผู้กำกับการแสดงและผู้กำกับเวที การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ปี 2565 เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน “สะกดทัพ” กล่าวถึงการทดสอบความสามารถของนักแสดงรุ่นใหม่ว่า เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงช่วงต้นปี 2565  ซึ่งเป็นระยะเวลาในการออดิชั่นเพื่อคัดเลือกเยาวชนเข้าร่วมเป็นนักแสดงในการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จึงต้องปรับรูปแบบเป็นการขอความร่วมมือจากหน่วยงานภายในของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ในเขตภาคกลาง เพื่อเฟ้นหาเยาวชนที่มีทักษะการแสดงมาร่วมแสดงกับศิลปิน อาจารย์ และนักแสดงฝีมือดี ในโขนมูลนิธิฯ ประจำปี 2565 โดยการทดสอบความสามารถนักแสดงโขนรุ่นใหม่ในครั้งนี้ มีนักศึกษาจากวิทยาลัยนาฏศิลปจาก 3 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี, อ่างทอง และลพบุรี โดยการทดสอบแบ่งตาม 5 ตัวละคร  ได้แก่ ละครพระ จำนวน 6 คน  ละครนาง จำนวน 10 คน โขนพระจำนวน 8 คน  โขนลิง จำนวน 14 คน  และโขนยักษ์ จำนวน 20 คน รวมถึงนักแสดงรุ่นเยาว์จากโรงเรียนต่างๆ ร่วมทดสอบการแสดงในบทมัจฉานุ จำนวน 7 คน รวมทั้งหมด 65 คน โดยนักแสดงที่เข้ารับการทดสอบจะได้รับการบทบาทเป็นตัวละครต่างๆ ตามความสามารถ ทั้งนี้ในปีหน้าหากสถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ ก็จะเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และผู้มีใจรักในการแสดงโขนจากทั่วประเทศเข้าร่วมออดิชั่นเพื่อคัดเลือกนักแสดงโขนรุ่นใหม่ในการแสดงโขนมูลนิธิฯ เช่นเดิม

โขนยักษ์

 

การแสดง โขน ตอน “สะกดทัพ” เป็นตอนที่มีฉากผจญภัยมากมาย ที่มาพร้อมความสนุกสนานจากเรื่องราวการต่อสู้ของ หนุมาน ยอดวานรทหารเอกของพระราม และ ไมยราพ พญายักษ์เจ้าเมืองบาดาล ผู้มีกล้องยาวิเศษพร้อมมนต์สะกด ได้รับบัญชาจากทศกัณฐ์ให้มาช่วยรบกับพระราม จึงลอบเข้าไปสะกดทัพพระราม แล้วจึงแบกพระรามพาแทรกแผ่นดินไปยังเมืองบาดาล เป็นเหตุให้หนุมานต้องตามไปช่วยพระราม ในระหว่างทางไปเมืองบาดาล หนุมานจะสามารถฝ่าฟันด่าน ๆ เพื่อไปช่วยพระรามกลับมาได้สำเร็จหรือไม่ 

มัจฉานุ

การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ประจำปี 2565 ตอน “สะกดทัพ” จะเปิดการแสดงในช่วงปลายปีนี้  ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ติดตามข่าวสารการจำหน่ายบัตรเข้าชมและความเคลื่อนไหวต่างๆ ได้ทางเฟซบุ๊ก Khon Performance โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ 

 

ติดตาม คมชัดลึก คลิก

Line: https://lin.ee/qw9UHd2

YouTube: https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w

 

คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565 ใครคือ 6 Candidate กับ 8  สาขา Popular Vote  ในครั้งนี้

รู้พร้อมกันที่ คมชัดลึก ทุก Platform

(https://awards.komchadluek.net/#)

Related posts

© Copyright 2018, All Rights Reserved