Trending News

Blog Post

รู้จัก "พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน" ก่อนต้อนรับคู่สมรส ผู้นำ APEC 2022 18 พ.ย.นี้
ท่องเที่ยว

รู้จัก "พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน" ก่อนต้อนรับคู่สมรส ผู้นำ APEC 2022 18 พ.ย.นี้ 

ทำความรู้จัก "พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน" จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สถานที่ต้อนรับคณะคู่สมรสผู้นำ APEC 2022 ที่จะเดินทางไปเยี่ยมชม ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565

ในโอกาสประเทศไทย จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ เอเปค 2565 หรือ APEC 2022 ระหว่างวันที่ 18 – 19 พฤศจิกายน 2565 ที่จะถึงนี้ ซึ่งจะมีผู้นำและคู่สมรส จากประเทศสมาชิกและแขกพิเศษมาร่วมงานมากมาย โดยหนึ่งในกิจกรรมสำคัญคือการเยี่ยมชมสถานที่สำคัญ ของทางคณะ คู่สมรส ในช่วงเวลาที่คณะผู้นำเขตเศรษฐกิจเข้าร่วมประชุม และวันนี้ คมชัดลึก ออนไลน์ จะพาไปทำความรู้จักกับ พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งถูกจัดให้เป็นสถานที่ต้อนรับคณะคู่สมรสผู้นำ APEC 2022 ที่จะเดินทางไปเยี่ยมชม ในวันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2565

 

 

 

ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับศักยภาพและความสำเร็จของประเทศไทย ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยได้รวบรวมผลงานประณีตศิลป์ชิ้นเอกของช่างจากสถาบันสิริกิติ์ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตั้งแต่เริ่มทำในระยะแรกๆ จนถึงผลงานชิ้นเอก นำมาจัดแสดงให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ชม

 

ภายใน พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน แบ่งการจัดแสดงเป็นหมวดหมู่ โดยมีเครื่องบรรยายส่วนตัว(Audio Guide) พร้อมจอบรรยายและจอทัชสกรีนแสดงข้อมูลต่างๆ ของชิ้นงาน

 

 

 

โถงทางเข้า จัดแสดงห้องปีกแมลงทับสีเขียวเหลือบรุ้งวิจิตรสวยงาม ผนังตกแต่งด้วยงานสานย่านลิเภาสอดปีกแมลงทับ

 

ห้องนิทรรศการใหญ่ จัดแสดงงานฝีมือ อาทิ เครื่องเงินเครื่องทอง, ลงยาสี, หมู่เรือพระที่นั่งจำลองจากขบวนเรือพระราชพิธี ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงศ์ เรือพระที่นั่งมงคลสุบรรณ และเรือพระที่นั่งศรีประภัศรไชย ซึ่งกลางลำเรือประดิษฐานบุษบกทองคำประกอบฉัตร และฉากไม้แกะสลักเรื่องสังข์ทองและหิมพานต์

 

 

ชั้น 2 จัดแสดง

 

  • ฉากถมทองขนาดใหญ่เรื่อง "รามเกียรติ์" บทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย วรรณคดีสำคัญที่ถ่ายทอดผ่านงานถมทองในรูปแบบ 3 มิติ
  • ฉากขนาดใหญ่ 2 ด้าน เป็นงานปักเส้นไหมด้วยวิธีโบราณ โดยใช้เส้นไหมน้อยหรือเส้นเล็กที่สุดของรังไหม ปักไล่ระดับและแสงเงาให้เกิดเป็นภาพที่มีมิติงดงาม ประดับด้วยดิ้นทองเลื่อมระยิบและแก้ว ด้านที่หนึ่งเล่าเรื่อง "หิมพานต์" ด้านที่สองเล่าเรื่อง "อิเหนา"
  • บุษบกมาลา จำลองแบบจากพระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง
  • พระที่นั่งจำลอง เช่น พระที่นั่งพุดตานถมทอง สร้างจำลองแบบพระที่นั่งพุดตานจำหลักไม้วังหน้า และพระที่นั่งพุดตานคร่ำทอง สร้างจำลองแบบพระที่นั่งพุดตานจำหลักไม้ที่พระบรมมหาราชวังเป็นต้น

 

ติดตาม คมชัดลึก คลิก

Line: https://lin.ee/qw9UHd2

YouTube: https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w

 

Related posts

© Copyright 2018, All Rights Reserved