Trending News

Blog Post

"วัดสิงห์" สามโคก สักการะพระเก่าแก่ 400 ปี ยลร่องรอยแห่งยุคสมัยอยุธยา
ท่องเที่ยว

"วัดสิงห์" สามโคก สักการะพระเก่าแก่ 400 ปี ยลร่องรอยแห่งยุคสมัยอยุธยา 

"วัดสิงห์" จ.ปทุมธานี วัดโบราณคู่บ้านคู่เมืองสามโคก กับโบราณสถานสมัย "กรุงศรีอยุธยา" ร่องรอยประวัติศาสตร์อันยาวนาน กว่า 400 ปี ที่ควรค่าแห่งการเยี่ยมชม

"วัดสิงห์" เป็นวัดโบราณ ที่สันนิษฐานว่าสร้างมาแต่ครั้ง "กรุงศรีอยุธยา" เป็นราชธานี ในช่วงสมัยอยุธยาตอนกลาง เป็นวัดโบราณที่มีความสำคัญของบ้าน "สามโคก" ปทุมธานี 

พงศาวดาร "กรุงศรีอยุธยา" มีการกล่าวถึงการอพยพมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่อาศัยของชาวรามัญ หรือ "ชาวมอญ" หลายยุคหลายสมัย ที่บ้าน "สามโคก" และ "วัดสิงห์" แห่งนี้เคยเป็นสถานที่ที่ให้พระภิกษุที่อพยพหนีศึกพม่า มาพร้อมกับ "ชาวมอญ" ได้จำพรรษา "วัดสิงห์" จึงเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองสามโคก ที่มีมาก่อนชาวรามัญ หรือ "ชาวมอญ" จะอพยพเข้ามาอยู่ที่บ้าน "สามโคก"

สถาปัตกรรมของ "วัดสิงห์" มีรูปแบบของศิลปะในสมัยอยุธยาหลากหลายยุค ที่ยังทรงคุณค่าคู่บ้านคู่เมือง "สามโคก" มาช้านาน

วิหารน้อย เป็นวิหารหลังเล็กก่อด้วยอิฐเป็นอาคารทรงไทย มุงด้วยกระเบื้องดินเผากาบู ด้านหน้ามีหลังคาพาไล ฐานวิหารมีลักษณะแอ่นโค้งท้องเรือสำเภา มีลักษณะเป็นกึ่งมหาอุตม์ เนื่องจากยังมีช่องแสงเล็กด้านข้างโบสถ์ ไม่ได้ปิดทึบแบบมหาอุตม์

 

วิหารเก่าแก่ วัดสิงห์ จ.ปทุมธานี

 

หลังคาพาไล ศิลปะแบบวิลันดา สมัยกรุงศรีอยุธยา

 

ภายในวิหารประดิษฐาน "พระพุทธสิริมาแสน"ประจำทิศตะวันตก พระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ สร้างจากศิลาทรายแดง ด้านหน้าพระประธานมีพระอัครสาวกยืนซ้ายขวา

 

พระพุทธสิริมาแสน วัดสิงห์ ปทุมธานี

 

อุโบสถเก่าแก่ "วัดสิงห์" สร้างสมัยอยุธยาตอนกลาง มีการบูรณะครั้งใหญ่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์  ประกอบด้วยกำแพงแก้วล้อมรอบ กำแพงแก้วก่อเป็นช่องสามเหลี่ยม ไว้ใส่ดวงประทีป เป็นอีกสัญลักษณ์ของศิลปะในสมัยอยุธยาตอนกลาง ทางเข้าทำเป็นซุ้มโครงก่ออิฐแบบกูบช้าง ทั้งด้านหน้าและด้านหลังศิลปะแบบอยุธยา

อุโบสถเก่าแก่ วัดสิงห์ ปทุมธานี

ตัวอาคารเป็นแบบทรงโรงมีมุขหน้า หลังคาเป็นแบบซ้อนสองชั้น และมีการลดระดับของหลังคาเป็น 3 ตับ จั่วมีลักษณะบีบเล็กและสูง โดยเป็นลักษณะของโบสถ์ทั่วไปของสมัย "กรุงศรีอยุธยา" มี "หลวงพ่อพุทธรัตนมุนี" เป็นพระประธานประจำทิศตะวันออก ประดิษฐานภายในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย รูปแบบศิลปสมัยอยุธยา พร้อมด้วยพระอู่ทองรายล้อมรอบ

พระพุทธรัตนมุนี พระประธานในอุโบสถ วัดสิงห์

อีกหนึ่งสถาปัตยกรรมที่หาชมยากแล้วในปัจจุบันคือ วิหารโถง หรือศาลาดิน เป็นอาคารโถง เปิดโล่ง สี่เหลี่ยม  มุงด้วยกระเบื้องเชิงชาย บันแถลงรูปสามเหลี่ยมปลายเรียวโค้ง รูปเทพพนมกับรูปดอกบัวอ่อนช้อนอย่างสวยงาม

ศาลาดินจะมีเสาระเบียงเรียบ เป็นเสาไม้กลมสีแดง ด้านในมี "พระพุทธรูปหลวงพ่อโต"  พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เก่าแก่ ประดิษฐานอยู่ ก่อด้วยอิฐเป็นพระประธานปางมารวิชัยภายในกรอบซุ้มเรือนแก้ว เป็นศิลปะสมัย "กรุงศรีอยุธยา" มีอายุราว 400 ปี ด้านหลังซุ้มเรือนแก้วเป็พระพระธานปางไสยาสน์  ประดิษฐานอยู่คือ "หลวงพ่อเพชร"

หลวงพ่อโต พระพุทธรูป 400 ปี ภายในศาลาดิน วัดสิงห์

หลวงพ่อเพชร

หลวงพ่อเพชร ในศาลาดิน วัดสิงห์

ด้านข้าง ๆ ศาลาดิน จะมีกุฎิหลังเก่า ซึ่งเป็นอาคารเก่าสมัยอยุธยา ได้รับอิทธิพลตะวันตกในสมัย "กรุงศรีอยุธยา" ตอนปลาย เป็นรูปแบบอาคารที่เกิดขึ้นใหม่ เป็นอาคารทรงจั่ว 2 ชั้น ได้ถล่มลงเมื่อปี พ.ศ 2554 และได้รับการบูรณะให้กลับมาสภาพสวยงามสมบูรณ์

 

กุฏิโบราณ สมัยอยุธยาตอนปลาย
 

จุดที่น่าสนใจคือ "โกศพญากราย" ก่อด้วยอิฐฉาบปูนรูปแบบโกศโถทรงกระบอกกลม ปากผาย ได้บรรจุอัฐิพระเถระมอญ ซึ่งได้อพยพเข้ามาจากเมืองเมาะตะมะ เมื่อราว 200 ปี สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย สมัยรัชกาลที่ 2  โกศหลวงพ่อพญากราย ตั้งอยู่บริเวณหน้าวิหารน้อย หลวงพ่อพญากราย (พระไตรสรณธัช) เป็นอดีตเจ้าอาวาสของ "วัดสิงห์" มีเชื้อสายของราชวงศ์มอญ ลักษณะของโกศมีขนาดใหญ่ สร้างตามรูปแบบศิลปะแบบมอญผสมไทย โดดเด่นด้วยรูปทรงที่ได้สัดส่วน ด้วยฝีมือปั้นปูนสดที่หาดูหาชมได้ยาก

 

โกศพญากราย วัดสิงห์ ปทุมธานี

ตรงข้ามกับ "วัดสิงห์" มีโบราณสถานเตาโอ่งอ่าง เป็นโบราณสถานที่จัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับเตาเผาที่ใช้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาในอดีตของ "ชาวมอญ" สามโคก โดยบริเวณนี้ได้ขุดพบซากเตาเผาโบราณ ซึ่งถือเป็นหลักฐานของการตั้งชุมชน "ชาวมอญ" ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ในยุคปลาย "กรุงศรีอยุธยา"

 

โบราณสถาน เตาโอ่ง อ่าง สามโคก

รูปร่างของเตาเผาที่พบมีลักษณะก่อเป็นอิฐเรียงกันมีลักษณะคล้ายกับเรือคว่ำมีปล่องระบายความร้อนด้านบน เป็นภูมิปัญญาของ "ชาวมอญ" โดยโบราณสถานแห่งนี้ได้ขุดค้นพบ "ตุ่มสามโคก" ซึ่งมีลักษณะเด่นเป็นภาชนะบรรจุที่ขนาดใหญ่ เนื้อแกร่ง หนา สีแดง ไม่เคลือบผิว ซึ่งผลิตจากเตาแหล่งนี้ และพบเครื่องปั้นดินเผาอื่นๆ อาทิ หม้อ ไห โอ่ง อ่าง

ตุ่ม "สามโคก" มีชื่อเสียงมาตั้งแต่ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2310 และมีชื่อเสียงต่อเนื่องมาถึงกรุงธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวรามัญเมือง "สามโคก" ได้เลิกร้างการผลิตไป โดยส่วนใหญ่ย้ายการผลิตไปที่ เกาะเกร็ด เมืองนนทบุรีแทน

ตามหลักฐานพบว่าเนินซากเตาเผาสมัยโบราณมีทั้งหมดสามเนินตั้งเรียงรายกัน อันเป็นที่มาของชื่อ ตำบล "สามโคก" 

Related posts

© Copyright 2018, All Rights Reserved