Trending News

Blog Post

"น้องพีท" เด็กไทยเจ๋ง คว้า เหรียญทอง วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ
สังคม

"น้องพีท" เด็กไทยเจ๋ง คว้า เหรียญทอง วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ 

เด็กไทยเจ๋ง "น้องพีท" นักเรียน ม.3 ชาวอุดรธานี คว้า เหรียญทอง เหรียญเดียวของไทย การแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ที่โคลัมเบีย

(12 ธันวาคม 2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในกลุ่มไลน์ของ จ.อุดรธานี ได้มีการแสดงความยินดี และชื่นชม กับ "น้องพีท" นายภัทรพล ธนพิทักษ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/1 โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล หลังจากไปสร้างชื่อเสียง และสร้างความภาคภูมิใจให้กับโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล รวมทั้งชาวจังหวัดอุดรธานี ตลอดจนประเทศไทย

 

ในการคว้ารางวัลชนะเลิศเหรียญทอง ในการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (International Junior Science Olympiad: IJSO) ครั้งที่ 19 ประจำปี 2565 ณ ประเทศโคลัมเบีย และรางวัลที่ 1 ประเภททฤษฎี และเป็นเหรียญทองเหรียญเดียวของประเทศไทย

เด็กไทยคว้าเหรียญทองการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีเด็กไทย ที่สามารถคว้าเหรียญเงินอีก 4 รางวัล ได้แก่นายทัดภู อุดมเกียรติ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม,นายพีรกร ตรีจักรขจร โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย,นายนภหิรัณย์ สถิรประภากุล โรงเรียนมัธยมปัญญารัตน์,นายณัฐกร เหมสนิท โรงเรียนแสงทองวิทยา และ 1 เหรียญทองแดง คือนายธนัฐถ์ ลิ่มอภิชาต โรงเรียนแสงทองวิทยา

เด็กไทยไปแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ

สำหรับการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (International Junior Science Olympiad: IJSO) เป็นสาขาหนึ่งในสาขาของโอลิมปิกวิชาการประเภทเดียว ที่ผู้เข้าแข่งขันต้องเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เนื่องจากการแข่งขันมีข้อกำหนดว่า ผู้เข้าแข่งขันต้องมีอายุน้อยกว่า 15 ปีในวันแข่งขัน

 

โดยมีการเริ่มแข่งขันครั้งแรกในปี พ.ศ. 2547 ที่เมืองจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขัน จะหมุนเวียนในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน และมีการจัดการแข่งขันทุก ๆ ปี โดยแต่ละประเทศสามารถส่งผู้เข้าร่วมการแข่งขันได้ 6 คน และสามารถส่งอาจารย์ผู้คุมทีมได้อีก 3 คน

 

ข้อสอบในการแข่งขัน

 

ข้อสอบแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ซึ่งจะแข่งในแต่ละวัน ตามกำหนดการที่เจ้าภาพจัดไว้ ซึ่งข้อสอบจะวัดความรู้ผู้เข้าสอบในรายวิชา ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา โดยมีคะแนนรวมทั้งหมด 100 คะแนน

 

ข้อสอบภาคทฤษฎีแบบปรนัย (Test Examination)

เป็นข้อสอบแบบเลือกตอบทั้งหมด 30 ข้อ โดย 10 ข้อเป็นวิชาฟิสิกส์ 10 ข้อเป็นวิชาเคมี และอีก 10 ข้อเป็นวิชาชีววิทยา ซึ่งแต่ละข้อจะมีคำตอบให้เลือกทั้งหมด 4 ตัวเลือก ถ้าผู้เข้าแข่งขันตอบถูก จะได้รับ 1 คะแนน ไม่ได้คะแนนหากไม่ตอบคำตอบ และจะโดนหักลบ 0.25 คะแนน สำหรับข้อที่ตอบผิด ซึ่งในส่วนนี้มีคะแนนเต็ม 30 คะแนน

 

ข้อสอบภาคทฤษฎีแบบอัตนัย (Theoretical Examination)

 

ข้อสอบภาคทฤษฎีแบบอัตนัย จะแบ่งเป็น 3 วิชาเช่นเดียวกัน โดยต้องแสดงวิธีทำในการหาคำตอบ ในส่วนนี้จะมีคะแนนเต็มทั้งหมด 30 คะแนน

 

ข้อสอบภาคปฏิบัติการ (Experiment Examination)

 

การสอบภาคปฏิบัติการจะสอบเป็นทีม ทีมละ 3 คน โดยสมาชิกแต่ละคน ต้องเป็นผู้แทนประเทศจากประเทศเดียวกัน แต่ละประเทศจะมีทีมแข่งขันมากที่สุดทั้งหมด 2 ทีม โดยแต่ละทีมจะต้องทำตามคำสั่ง และตอบคำถามตามที่ข้อสอบถาม สมาชิกทุกคนในทีมจะได้รับคะแนนเท่ากัน โดยในส่วนนี้จะมีคะแนนเต็มทั้งหมด 40 คะแนน

 

รางวัลในการแข่งขัน

 

หลังจากตรวจข้อสอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้เข้าแข่งขันจะถูกเรียงตามลำดับของคะแนน ร้อยละ 10 ของผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดที่ได้คะแนนสูงสุด จะได้รับเหรียญทอง ร้อยละ 20 ถัดมาจะได้รับเหรียญเงิน ส่วนร้อยละ 30 ถัดมาจะได้รับเหรียญทองแดง และยังมีรางวัลสำหรับทีมที่ได้คะแนนในการสอบภาคปฏิบัติการสูงสุด รางวัลสำหรับประเทศที่ได้คะแนนรวมดีที่สุดในการแข่งขัน ยังมีรางวัลให้แก่ผู้เข้าแข่งขันที่ได้คะแนนภาคทฤษฎีสูงสุด และคะแนนรวมสูงสุดอีกด้วย

 

Related posts

© Copyright 2018, All Rights Reserved