Trending News

Blog Post

"หนุ่ม" วัย 26 แชร์ประสบการณ์ ปวดหลังร้าวลงขา ตรวจเจอ เนื้องอกเชิงกราน
สังคม

"หนุ่ม" วัย 26 แชร์ประสบการณ์ ปวดหลังร้าวลงขา ตรวจเจอ เนื้องอกเชิงกราน 

เจออีก "หนุ่ม" แชร์ประสบการณ์ ปวดหลังร้าวลงขา ตรวจพบ เนื้องอกเชิงกราน และ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ผ่าตัดไม่ได้ ติดตามอาการ ตลอดชีวิต

หลังจาก หมอ และ ตำรวจหนุ่ม อายุน้อย ออกมาโพสต์ เล่าประสบการณ์ ป่วยเป็นมะเร็งปอด ระยะสุดท้าย ทั้งที่ไม่สูบบุหรี่ ร่างกายแข็งแรง และออกกำลังกายมาโดยตลอด ส่งผลให้หลายคนตื่นตัว หันกลับมาดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น รวมทั้ง คนที่เคยเจ็บป่วย กับสิ่งที่ไม่คาดคิด ก็ได้ออกมาเล่าประสบการณ์ เพื่อให้ทุกคนตระหนัก ในการดูแลตัวเอง 

เช่นเดียวกับ ผู้ใช้เฟซบุ๊ค Prem Kamphaengthip ซึ่งเป็นชายหนุ่มรายหนึ่ง ชื่อว่า เปรม อายุเพียง 26 ปี ได้โพสต์เล่าประสบการณ์ หลังตรวจพบเนื้องอกเชิงกรานด้านขวา กับหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ทั้งที่ร่างกายแข็งแรง ออกกำลังกายตลอดเช่นเดียวกัน โดยระบุว่า อยากเป็นอีกหนึ่งเสียง ว่าร่างกายของเรา เราควรดูแลให้ดี 

 

หนุ่มเปรม เล่าว่า ปัจจุบันอายุ 26ปี ก่อนหน้านี้ก็เป็นผู้ชายที่แข็งแรง ว่ายน้ำ เตะบอล วิ่ง เล่นฟิตเนส ได้ปกติทุกอย่าง จนเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ได้ทำงานบนเรือน้ำมัน และต้องยกของหนักจำนวนมากแทบทุกวัน ทำให้ใช้ร่างกายหนักมาก และใช้ท่าทางในการยกที่ผิด จึงเกิดอาการปวดหลังร้าวลงขา แต่ว่าด้วยความที่เป็นเด็ก เลยคิดว่าไม่น่าเป็นอะไรมาก น่าจะแค่ไม่ได้ยืดเส้นก่อนยกของ กับร่างกายล้าจากการทำงานหนัก 24/7 ก็ปล่อยอาการนี้ผ่านมาเรื่อย และพูดเล่นกับตัวเองว่า แก่แล้วก็มีเจ็บปวดธรรมดา

 

หนุ่มป่วย เนื้องอกเชิงกราน แชร์ประสบการณ์

จนวันหนึ่ง เมื่อ 4 เดือนที่แล้ว ลุกจากเตียงไม่ได้ ลุกนั่งก็เจ็บ ยืนนานก็เจ็บ เดินมากก็เจ็บ ขึ้นลงรถก็เจ็บ ทำทุกอย่างคือเจ็บหลังร้าวลงขาทั้งหมด จึงตัดสินใจไปโรงพยาบาล ปรากฏว่าตรวจเจอ "เนื้องอกในกระดูกเชิงกราน ด้านขวา" กับ "หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท" จังหวะที่รู้ก็มองย้อนตัวเองกลับมาว่า นี่เราอายุแค่ 26 เราต้องมาเป็นอะไรแบบนี้ด้วยหรอ

 

จากนั้น การใช้ชีวิตปกติ กลายเป็นเรื่องยาก เคลื่อนไหวลำบาก ทำอะไรก็ช้าลง กระทบชีวิตประจำวันและงานไปหมด ต้องกินยาวันละ 15 เม็ด+ มื้อละประมาณ 4-5เม็ด กลายเป็นขาดยาไม่ได้ ไม่งั้นแทบจะใช้ชีวิตประจำวันไม่ได้เลย

 

รวมถึงเสียบุคลิกด้วย เพราะตัวจะเอียงไปด้านซ้าย เนื่องจากร่างกายมันเอียงเอง เพื่อหลบอาการเจ็บปวด และเดินเหมือนคนเจ็บขาตลอดเวลา สุดท้ายต้องเข้าออกโรงพยาบาล เดือนหนึ่ง ไม่ต่ำกว่า 7-14 วัน ทำให้เสียเวลาชีวิต และเวลาที่จะได้ใช้อย่างสมวัยด้วย เพื่อติดตามอาการ และวางแผนการรักษากับคุณหมอ

 

เอกซเรย์กระดูก

ทั้งนี้ หนุ่มเปรม ระบุว่า เนื้อที่ตรวจพบ หมอบอกว่าเป็นเนื้อดี ที่อาจจะกลายเป็นเนื้อร้ายได้ในอนาคต ต้องคอยติดตามมันไปตลอดชีวิต และผ่าออกไม่ได้แล้ว เจอก้อนเนื้อช้าไป ถ้าผ่าออกจะทำให้เดินไม่ได้ หรือเดินกะเผลกตลอดชีวิต ทำได้แค่คุมไม่ให้มันโตไปกว่านี้ จึงอยากให้เพื่อนพี่น้องทุกคน ไม่ว่าช่วงอายุเท่าไหร่ก็ตาม หันมาใส่ใจสุขภาพ และดูแลตัวเองมากขึ้น ยิ่งอายุ 25+ แล้ว อะไรก็เกิดขึ้นกับร่างกายเราได้

 

ผลเอกซเรย์กระดูก

 

สุดท้าย หมอฝากเตือนทุกคนว่า "เจ็บปวดนิดเดียวก็มาโรงพยาบาลได้แล้ว

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ หนุ่มเปรม ได้โพสต์เล่าประสบการณ์ อาการเจ็บป่วยแบบไม่คาดคิด ก็มีคนเข้ามาให้กำลังใจ รวมทั้ง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกี่ยวกับประสบการณ์การเจ็บป่วยที่พบเจอในลักษณะเดียวกัน โดยมีการแชร์เรื่องราวไปกว่า 1.5 พันครั้ง

 

วิธีเช็ค อาการ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

 

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท คือ ภาวะที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของโครงสร้างกระดูกสันหลัง ทำให้ทรุดตัว และไปกดเบียดเส้นประสาท ทำให้เส้นประสาทเกิดการอักเสบ

 

สังเกตอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ได้ดังนี้

 

  • ปวดหลัง ปวดบริเวณเอว เป็นๆ หายๆ
  • ปวดร้าวลงไปถึงขา น่อง หรือเท้า
  • เดินได้ไม่ไกล มีอาการปวดชาลงไปถึงขาเหมือนเป็นตะคริวร่วมด้วย ต้องหยุดพัก แล้วจึงจะเดินต่อไปได้
  • ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงของขา กระดกข้อเท้าไม่ได้
  • บางรายอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมการขับถ่าย

 

เนื้องอกกระดูกคืออะไร

 

เนื้องอกกระดูก สามารถแบ่งตามลักษณะและสาเหตุการเกิดเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ 

 

  1. เนื้องอกที่เกิดจากความผิดปกติในกระดูกนั้น ๆ (เนื้องอกกระดูกปฐมภูมิ)
  2. เนื้องอกชนิดอื่นที่แพร่กระจายมาที่กระดูก (เนื้องอกกระดูกทุติยภูมิ)

 

 

โดยเนื้องอกกระดูกทุติยภูมิ พบได้มากกว่าเนื้องอกกระดูกปฐมภูมิหลายเท่า มะเร็งที่มีการแพร่กระจายมาที่กระดูกได้บ่อย ได้แก่ มะเร็งปอด เต้านม ต่อมไทรอยด์ ต่อมลูกหมาก และไต เป็นต้น โดยเนื้องอกกระดูกปฐมภูมิ พบเพียง 0.5 % ของเนื้องอกปฐมภูมิทุกชนิด 

 

เนื้องอกกระดูกปฐมภูมิสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ  

 

  1. เนื้องอกกระดูกปฐมภูมิชนิดไม่ร้าย  
  2. เนื้องอกกระดูกปฐมภูมิชนิดร้าย  (มะเร็งกระดูกปฐมภูมิ)

 

 

Related posts

© Copyright 2018, All Rights Reserved