Trending News

Blog Post

เห็นชอบ กรอบการจัดหา "วัคซีนโควิด" ปีงบ 2566 ให้มี เข็มกระตุ้น สำหรับกลุ่ม 608
Updated วัคซีน

เห็นชอบ กรอบการจัดหา "วัคซีนโควิด" ปีงบ 2566 ให้มี เข็มกระตุ้น สำหรับกลุ่ม 608 

คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เห็นชอบ กรอบการจัดหา "วัคซีนโควิด" ปีงบ 2566 ให้มี วัคซีนเข็มกระตุ้น สำหรับกลุ่ม 608 บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า และประชาชนทั่วไป

คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เห็นชอบนโยบายสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดซื้อจัดหา "วัคซีนโควิด" โดยเบื้องต้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สนใจและมีความพร้อมดำเนินการจัดซื้อจัดหาวัคซีนพื้นฐาน/ที่จำเป็นมาให้บริการประชาชนในพื้นที่ โดย สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และ กรมควบคุมโรค เป็นหน่วยงานสนับสนุนด้านวิชาการ และยังเห็นชอบแนวทางการจัดหา "วัคซีนโควิด" ปี 2566 ใน กลุ่ม 608 และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงเจ้าหน้าที่ ด่านหน้าและ อสม. ควรได้รับ วัคซีนเข็มกระตุ้น 1 – 2 ครั้งต่อปี

 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองกรมควบคุมโรค และนายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 โดยมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมทั้งในที่ประชุมและรูปแบบออนไลน์

 

นายอนุทิน ได้กล่าวถึงการเข้าร่วมพิธีเปิด World Bio Summit 2022 พร้อมกับคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการหารือทวิภาคีด้านสาธารณสุข การลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงสาธารณสุขไทยกับกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการแห่งสาธารณรัฐเกาหลีว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข มุ่งเน้นความร่วมมือด้านความมั่นคงด้านสุขภาพ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพ การดูแลสุขภาพดิจิทัล เพื่อเสริมสร้างระบบสุขภาพให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนของทั้งสองประเทศให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงชื่นชมการเข้าเป็นภาคีกับ สถาบันวัคซีนนานาชาติ ในโอกาสที่ได้เข้าร่วมพิธีแสดงสัตยาบัน Thailand – IVI Ratification Ceremony เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งการที่ไทยเข้าร่วมเป็นภาคี IVI จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างองค์กร ขยายบทบาทและภารกิจระดับโลกของประเทศไทยในการเข้าถึงวัคซีน โดยมี สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการร่วมมือเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้าน วัคซีน

 

นพ.โสภณ ได้นำเสนอเรื่องเพื่อพิจารณา เรื่องที่ 1 คือ กรอบการจัดหา "วัคซีนโควิด" ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ว่า จากการที่กรมควบคุมโรคมีเป้าหมายที่จะลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ป่วยหนัก และเสียชีวิตจากโรค โควิด19 ในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป, กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวและโรคเรื้อรัง (608) และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงประชาชนทั่วไปตามความสมัครใจ ซึ่งควรได้รับ วัคซีนเข็มกระตุ้น 1-2 ครั้งต่อปีนั้น แต่เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลก จึงต้องติดตามคำแนะนำการให้ "วัคซีนโควิด" ในระยะถัดไปอย่างใกล้ชิด รวมทั้งนำประเด็นเข้าหารือในการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เพื่อให้คำแนะนำสำหรับการให้ "วัคซีนโควิด" อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการ

 

ในส่วนของแผนการบริหารจัดการ "วัคซีนโควิด" ในระยะที่เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังว่า กรมควบคุมโรค ได้มีแผนบริหารจัดการกลุ่มเป้าหมายที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ กลุ่ม 608 กลุ่มเด็กอายุ 6 เดือน – 4 ปี ในสถานพยาบาลรัฐและเอกชน รวมถึงกลุ่ม อสม. โดยเสนอให้มีการจัดหน่วยฉีดวัคซีนหลักประจำจังหวัดและอำเภอ Well baby clinic ในสถานพยาบาลรัฐและเอกชน Group Vaccination อาทิ บ้านพักคนชรา สถานสงเคราะห์ รวมถึงจัดให้มีหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ พร้อมทั้งเสนอให้มีการจัดกิจกรรม Vaccination Day of the Week 

 

นพ.นคร นำเสนอ สำหรับเรื่องเพื่อพิจารณา เรื่องที่ 2 คือ (ร่าง) นโยบายสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดซื้อจัดหาวัคซีน เพื่อเป็นนโยบายในการสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีบทบาทเป็นส่วนเสริมจากแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงวัคซีนให้กับประชาชนในท้องที่ ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการ โดยมอบหมายให้ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และ กรมควบคุมโรค เป็นผู้ประสานการดำเนินงาน

 

จากนั้น นพ.นคร นำเสนอเกี่ยวกับความก้าวหน้าการวิจัยพัฒนา วัคซีน ป้องกัน โควิด19 ในประเทศไทย ขณะนี้ว่า มี "วัคซีนโควิด" ที่ได้ทำการทดสอบในมนุษย์แล้ว จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ 

 

1. "วัคซีนโควิด" ชนิด NDV-HXP-S โดยองค์การเภสัชกรรม 

2. วัคซีน ChulaCov19 ชนิด mRNA โดยศูนย์วิจัยวัคซีนแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

3. "วัคซีนโควิด" ชนิดดีเอ็นเอ โดยบริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด 

4. วัคซีน Baiya SARS-CoV-2 Vax ชนิด Recombinant โดยบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด 

 

ขณะที่ "วัคซีนโควิด" รูปแบบพ่นจมูก โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ใกล้เข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1

 

อนุทิน ชาญวีรกูล

 

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w

 

Related posts

© Copyright 2018, All Rights Reserved