Trending News

Blog Post

"ภาวะหมดไฟ" โรค หรือ อารมณ์ เช็คสัญญาณเตือน งานแบบไหน เสี่ยง หมดไฟ มากที่สุด
สุขภาพ

"ภาวะหมดไฟ" โรค หรือ อารมณ์ เช็คสัญญาณเตือน งานแบบไหน เสี่ยง หมดไฟ มากที่สุด 

"ภาวะหมดไฟ" หมดไฟทำงาน Burnout โรค หรือ อารมณ์ เช็คสัญญาณเตือน งาน แบบไหน เสี่ยง หมดไฟ มากที่สุด สุดท้าย กลายเป็น โรคซึมเศร้า ได้หรือไม่

จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต ที่พบว่า สถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ยาวนานกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะ หมอ 
มี "ภาวะหมดไฟ" (Burn-out) เพิ่มสูงขึ้น ในปี พ.ศ. 2565 ค่าเฉลี่ย 3 ไตรมาส อยู่ที่ร้อยละ 12.2 หรือ 6 เท่า โดยสาเหตุหลัก มาจากภาระความรับผิดชอบ ในภาวะวิกฤตของผู้ป่วย และจำนวนชั่วโมงการทำงานที่ต่อเนื่องยาวนาน แล้ว ภาวะหมดไฟ คืออะไร มีสัญญาณเตือนแบบไหน ที่จะทำให้รู้ว่า กำลังเข้าข่าย
ภาวะหมดไฟทำงาน และทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้หรือไม่ เพื่อให้รู้เท่าทัน และหมั่นสังเกตสัญญาณเตือน จะช่วยให้รับมือได้อย่างถูกวิธีก่อนสายเกินไป
 

"ภาวะหมดไฟ" หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน Burnout คือ ภาวะการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจ ที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังในการทำงาน ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโรคใหม่จากองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยเป็นโรคที่เป็นผลจากการความเครียดเรื้อรังในสถานที่ทำงาน ซึ่งควรได้รับการดูแลจากแพทย์เฉพาะทาง ก่อนจะรุนแรงและคุกคามการใช้ชีวิต แบ่งลักษณะอาการออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

 

  1. เหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกหมดพลัง สูญเสียพลังจิตใจ
  2. มีทัศนคติเชิงลบต่อความสามารถในการทำงานของตนเอง ขาดความเชื่อมั่นในความสำเร็จ
  3. ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ความสัมพันธ์ในที่ทำงานเหินห่างหรือเป็นไปทางลบกับผู้ร่วมงานและลูกค้า
     

ภาวะหมดไฟในการทำงาน

สัญญาณเตือนภาวะหมดไฟ

 

1. ด้านอารมณ์

  • หดหู่
  • ซึมเศร้า 
  • หงุดหงิด โมโหง่าย
  • อารมณ์แปรปรวน
  • ไม่พอใจในงานที่ทำ

2. ด้านความคิด

  • มองคนอื่นในแง่ลบแง่ร้าย
  • โทษคนอื่นเสมอ
  • ระแวง
  • หนีปัญหา ไม่จัดการปัญหา
  • สงสัยและไม่เชื่อในศักยภาพของตนเอง

3. ด้านพฤติกรรม

  • ผลัดวันประกันพรุ่ง
  • ขาดความกระตือรือร้น
  • หุนหันพลันแล่น
  • บริหารจัดการเวลาไม่ได้
  • ไม่อยากตื่นไปทำงาน 
  • มาสายจนผิดสังเกตติดต่อกัน
  • ไม่มีสมาธิในการทำงาน
  • ไม่มีความสุขในการทำงาน

 

ระยะเวลาก่อนหมดไฟทำงาน แบ่งเป็นระยะต่าง ๆ ที่นำมาสู่ภาวะหมดไฟในที่สุดดังนี้   

 

  • ระยะฮันนีมูน (the honeymoon) เป็นช่วงเริ่มงานหรือที่เรียกว่าช่วงไฟแรง คนทำงานมีความตั้งใจ เสียสละเพื่องานเต็มที่ พยายามปรับตัวกับเพื่อนร่วมงานและองค์กร   
  • ระยะรู้สึกตัว (the awakening) เมื่อเวลาผ่านไป คนทำงานเริ่มรู้สึกว่าความคาดหวังของตัวเองอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง เริ่มรู้สึกว่างานไม่ตอบสนองกับความต้องการ ทั้งในแง่การได้รับค่าตอบแทน และการเป็นที่ยอมรับ อาจรู้สึกว่าชีวิตดำเนินอย่างผิดพลาด และไม่สามารถจัดการได้ ทำให้เกิดความคับข้องใจและเหนื่อยล้า   
  • ระยะไฟตก (brownout) รู้สึกเหนื่อยล้าเรื้อรัง และหงุดหงิดง่ายขึ้นอย่างชัดเชน อาจมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อหนีความคับข้องใจ เช่น ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ดื่มสุรา ส่งผลให้ความสามารถในการทำงานลดลง อาจเริ่มมีการแยกตัวจากเพื่อนร่วมงาน   
  • ระยะหมดไฟเต็มที่ (full scale of burnout) หากช่วงไฟตกไม่ได้รับการแก้ไข จะเริ่มรู้สึกสิ้นหวัง มีความรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว สูญเสียความมั่นใจในตัวเองไป มีอาการของภาวะหมดไฟเต็มที่   
  • ระยะฟื้นตัว (the phoenix phenomenon) หากได้มีโอกาสผ่อนคลาย ได้พูดคุยกับคนที่ไว้ใจและให้กำลังใจ รวมถึงได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ จะสามารถกลับมาปรับตัวเอง และความคาดหวังต่องานให้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น รวมถึงสามารถปรับแรงบันดาลใจ และเป้าหมายในการทำงานด้วย   

ภาวะหมดไฟในการทำงาน

 

อย่างไรก็ตาม หากภาวะหมดไฟไม่ได้รับการจัดการ อาจส่งผลด้านต่าง ๆ เช่น ผลด้านร่างกายอาจพบอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ ผลด้านจิตใจ บางคนอาจสูญเสียแรงจูงใจ หมดหวัง รู้สึกหมดหนทางที่จะช่วยให้ดีขึ้น ส่งผลให้มีอาการของภาวะซึมเศร้า และอาการนอนไม่หลับได้ ส่งผลต่อการทำงาน อาจขาดงานบ่อย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง หรืออาจคิดเรื่องลาออกในที่สุด

 

งานแบบไหนเสี่ยงภาวะหมดไฟ

 

  • งานหนักและปริมาณมากเกินไป
  • งานซับซ้อน งานเร่งรีบ
  • งานที่ผลตอบแทนไม่เหมาะสม 
  • งานที่ทำให้รู้สึกไม่ได้รับคุณค่าและความภูมิใจในการทำงาน
  • งานที่ขาดความยุติธรรม ความเชื่อใจ การยอมรับในการทำงาน
  • งานที่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจในงานที่ทำ
  • งานที่การบริหารงานไร้ระบบ ไม่มีเป้าหมายชัดเจน

 

การบำบัดรักษาภาวะหมดไฟ

 

  1. ลดการใช้อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ อุปกรณ์สื่อสาร และจำกัดเวลาการใช้โซเชียลมีเดีย 
  2. ผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบนอกเวลาทำงาน เช่น ดูภาพยนตร์ ฟังเพลง ออกกำลังกาย เล่นโยคะ ท่องเที่ยว ฯลฯ นอกจากนี้การทำสมาธิ และฝึกฝนเทคนิคการผ่อนคลายก็เป็นสิ่งที่ควรทำเป็นประจำ
  3. จัดระเบียบการใช้ชีวิต จัดลำดับความสำคัญของงาน เช่น โฟกัสกับงานแต่ละชิ้นตามลำดับความสำคัญ กำหนดเวลาที่จะใช้ตอบอีเมลล์ในแต่ละวัน ไม่นำงานกลับมาทำต่อที่บ้าน หรือนอกเวลางาน
  4. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
  5. ปรับทัศนคติในการทำงาน
  6. พัฒนาทักษะการปรับตัว การสื่อสาร การแก้ปัญหา
  7. ขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงาน พยายามหลีกเลี่ยงการสนทนากับบุคคลที่มองโลกในแง่ร้าย ใช้เวลามากขึ้นกับคนที่เข้าใจและมองเห็นคุณค่าในตัวของคุณ

 

 

ทั้งนี้ หลายคนมักสงสัยว่า ภาวะหมดไฟทำงาน (Burnout Syndrome) เป็นอาการของโรคซึมเศร้าหรือไม่ นพ.อโณทัย สุ่นสวัสดิ์ แพทย์ด้านจิตเวช โรงพยาบาลกรุงเทพ ระบุว่า ภาวะหมดไฟในการทำงาน กับโรคซึมเศร้า มีความแตกต่างกัน ไม่ใช่โรคเดียวกัน แต่อย่านิ่งนอนใจ ควรปรึกษาจิตแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อจะได้รับการตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาอย่างทันท่วงที 

 

 

 

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube – https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday – https://today.line.me/th/v2/publisher/100057

Related posts

© Copyright 2018, All Rights Reserved