Trending News

Blog Post

อ.เจษฎ์ ยัน "ต้นพญาสัตบรรณ" ไม่มี สารไซยาไนด์ มีแค่กลิ่นเหม็นเท่านั้น
สังคม

อ.เจษฎ์ ยัน "ต้นพญาสัตบรรณ" ไม่มี สารไซยาไนด์ มีแค่กลิ่นเหม็นเท่านั้น 

อ.เจษฎ์ ยันเอง "ต้นพญาสัตบรรณ" ไม่มี "สารไซยาไนด์" เป็นแค่ต้นไม้ที่ดอกส่งกลิ่นแรง ซึ่งบางคนก็ว่าเหม็น บางคนก็ว่าหอมเท่านั้น

จากกรณีที่แพทย์แผนไทยท่านหนึ่ง ได้ออกมาเตือนว่า "ต้นพญาสัตบรรณ" หรือ เรียกสั้นๆ ว่า ต้นตีนเป็ด ว่า ดอกที่ส่งกลิ่นแรงๆ เป็นกลิ่นของ สารไซยาไนด์ มีผลต่อระบบหัวใจโดยตรง และการหมุนเวียนของเลือดด้วย หากสูดดมนานๆ อาจเกิดอาการเวียนหัว หน้ามืด มีอาการตึงบริเวณท้ายทอย อาจจะเกิดอันตรายต่อชีวิต เพราะระบบหัวใจอาจล้มเหลวได้ ล่าสุด ทาง อ.เจษฎ์ นาย เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ได้ออกมายืนยันถึงกรณีนี้แล้ว ว่า "ต้นพญาสัตบรรณ" ไม่มี สารไซยาไนด์ แต่อย่างใด มีเพียงกลิ่นเหม็นเท่านั้น

 

โดย อ.เจษฎ์ เปิดเผยว่า เป็นเรื่องมั่วๆ เกี่ยวกับ "ต้นพญาสัตบรรณ" หรือ ต้นตีนเป็ด กลับมาแชร์กันอีกแล้วครับ โดยหาว่าเป็นต้นไม้พิษ ที่กลางคืนจะปล่อยพิษพวก สารไซยาไนด์ ออกมา โดยเฉพาะในช่วงฤดูออกดอก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่จริง มันเป็นแค่ต้นไม้ที่ดอกส่งกลิ่นแรง ซึ่งบางคนก็ว่าเหม็น บางคนก็ว่าหอม

 

"ต้นพญาสัตบรรณ" หรือ ต้นตีนเป็ด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Alstonia scholaris (L.) R. Br. จัดอยู่ในวงศ์ ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถพบได้ในทุกภาคของประเทศไทย เป็นไม้ยืนต้นสูงขนาดใหญ่ ลำต้นตรง แตกกิ่งก้านสาขาเป็นชั้นๆ (เหมือนฉัตร) มีความสูงประมาณ 12-20 เมตร เปลือกต้นหนาเปราะ ผิวต้นเมื่อกรีดจะมียางสีขาว ออกดอกเป็นช่อคล้ายดอกเข็มที่ปลายกิ่งหรือส่วนยอดของลำต้น ดอกมีขาวอมเหลืองหรือเขียว มีกลิ่นหอมอ่อนๆ 

 

"ต้นพญาสัตบรรณ" เป็นพืชที่มีฤทธิ์ทาง อัลลีโลพาธี (Allelopathy) คือ สารสกัดสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของต้นคะน้า ข้าวโพด ข้าว ถั่วเขียวผิวดำ ถั่วเขียวผิวมัน และคะน้าได้ มีสรรพคุณทางยาสมุนไพรมากมายรวมทั้งใช้ใบพอกเพื่อดับพิษต่างๆ ได้ (ไม่มีรายงานถึงพิษอันตรายต่อมนุษย์) นอกจากนี้ ยังจัดเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสมุทรสาครอีกด้วย

 

ต้นตีนเป็ดน้ำ หรือ ต้นตีนเป็ดทะเล มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cerbera odollam Gaertn. จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ดเช่นกันกับ "ต้นพญาสัตบรรณ" มีถิ่นกำเนิดในอินเดียจนถึงทางตอนใต้ของจีน ในประเทศไทยนั้นจะพบเฉพาะทางภาคใต้ เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ ขนาดเล็ก ทรงร่ม เรือนยอดเป็นทรงกลมทึบ มีความสูงของต้นประมาณ 5 – 15 เมตร เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทา มีช่องระบายอากาศเป็นร่องยาว มีน้ำยางสีขาวข้น มักพบขึ้นตามบริเวณริมน้ำ ตามป่าชายเลน ป่าบึงน้ำจืด และป่าชายหาด ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง แต่ละช่อมีดอกหลายดอก ดอกย่อยเป็นสีขาว ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ

 

ต้นตีนเป็ดน้ำ มีทรงพุ่มสวยงาม ผลและดอกสวย มีกลิ่นหอม จึงใช้ปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงาตามลานจอดรถหรือริมถนนได้ แต่ยางจากต้น ใบ ผล และเนื้อในผล มีพิษเป็นอันตราย (มีสาร Cerberoside และ Thevobioside ที่เป็นพิษต่อหัวใจ) เมล็ดมีสารที่ออกฤทธิ์ต่อหัวใจ ที่เรียกว่า "คาร์เบอริน" (Cerberin) ซึ่งมีการนำมาใช้ในการวางยาพิษ หากได้รับในปริมาณมากก็สามารถฆ่าคนได้เลย น้ำยางหากเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้ (แต่พิษทั้งหมดนี้ ก็ไม่อยู่ถูกคายออกมาในอากาศ ให้คนสูดดมเข้าไปแล้วเป็นอันตราย แต่อย่างไร) จึงไม่ควรปลูกใกล้กับสนามเด็กเล่นหรือบริเวณที่มีเด็กอยู่

 

สารไซยาไนด์ คือ สารเคมีอันตรายที่ออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว เป็นกลุ่มของสารเคมีที่มี ไซยาไนด์ไอออน (CN-) เป็นองค์ประกอบ สารเคมี กลุ่มนี้มีความเป็นพิษสูงมาก มักพบในรูปของสารประกอบโลหะอัลคาไลด์ที่เป็นของแข็งสีขาว และสารประกอบโลหะหนัก พบได้มากในพืชในรูปของกรดไฮโดรไซยานิค สามารถวิเคราะห์หาได้ในรูปของ ไซยาไนด์ไอออน สามารถวิเคราะห์หา สารไซยาไนด์ ได้โดยใช้วิธีการกลั่น (Distillation Measurement) เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะเข้าไปยับยั้งการทำงานของเซลล์จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

 

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w

 

Related posts

© Copyright 2018, All Rights Reserved