Trending News

Blog Post

"ปะผุทุจริต" กฎเหล็กใหม่ ปิดประตูโกงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ!
การเมือง

"ปะผุทุจริต" กฎเหล็กใหม่ ปิดประตูโกงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ! 

"ปะผุทุจริต" กฎเหล็กใหม่ ปิดประตูโกงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ : หลังจากครม. เพิ่งมีมติ "เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ฉบับใหม่

ข่าวฮือฮาเล็กๆในการประชุมครม. เมื่อวันอังคารที่ 8 พ.ย. กับมติ "เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. …. 

 

ถือเป็นร่างระเบียบฯฉบับใหม่ ผลพวงมาจาก "แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20" ปีที่ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยแผนแม่บทประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ. 2563 – 2580) กำหนดโร้ดแมปไว้ว่า ปี 2565 จะต้องขยับมาเป็นอันดับ 1 ใน 54 และหรือได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 50 คะแนน จากการประเมินผ่านดัชนีการรับรู้การทุจริตของ Transparency International 

นอกจากนี้ยังปรับคะแนนเป้าหมายสูงขึ้นทุก 5 ปี และกำหนดว่าเมื่อครบตามยุทธศาสตร์ 20 ปีแล้วจะต้องเป็นประเทศปลอดคอร์รัชชั่นติดอับดับ Top 20 และได้คะแนนมากกว่าหรือเท่ากับ 73 คะแนน

 

เมื่อส่องไส้ในของมติครม. พบว่า เป็นการยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2544 

 

มีการปรับปรุงบทนิยามของ "ของขวัญ" ให้รวมถึง ประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศของ ป.ป.ช. และเพิ่มบทนิยามของคำว่าทรัพย์สินที่ให้เป็นของขวัญให้รวมถึง "สินทรัพย์ดิจิทัล"

การให้ของขวัญ  เจ้าหน้าที่รัฐจะให้ของขวัญแก่ผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลในครอบครัวของผู้บังคับบัญชาไม่ได้ เว้นแต่เป็นการให้ตามปกติประเพณีนิยมซึ่งมีราคาหรือมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท จากผู้ให้แต่ละคนและแต่ละโอกาส 

 

ซึ่งได้เพิ่มเรื่องการกำหนดจำนวนเงินเพื่อความชัดเจน รู้ถึงมูลค่าของขวัญ (จากระเบียบเดิมกำหนดไว้ว่า ของขวัญที่ให้นั้นต้องมีราคาหรือมูลค่าไม่เกินจำนวนที่ป.ป.ช.กำหนด)

 

 ส่วน การจัดหาของขวัญ เจ้าหน้าที่ของรัฐจะทำการใดๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินหรือทรัพย์สินอื่นใด เพื่อมอบให้หรือจัดหาของขวัญให้ผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลในครอบครัวของผู้บังคับบัญชาไม่ได้ เป็นการขยายความการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้ครอบคลุมถึงทุกการกระทำ (จากระเบียบเดิมกำหนดแต่เพียงว่าทำการเรี่ยไร่เงิน)

 

การรับของขวัญ ผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลในครอบครัวของตนรับของขวัญอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐจากผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ได้ 

 

เว้นแต่เป็นการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมาย ส่วนนี้ได้เพิ่มตำแหน่งผู้บังคับบัญชาเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลในครอบครัวของผู้บังคับบัญชารับของขวัญแทน เพิ่มข้อยกเว้นเรื่องการรับทรัพย์สินฯ ให้สอดคล้องกับกฎหมายของ ป.ป.ช. จากเดิมกำหนดไว้เพียงคำว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ

 

วิธีปฏิบัติหากรับของขวัญ ในกรณีที่บุคคลในครอบครัวของเจ้าหน้าที่ของรัฐรับของขวัญแล้ว หากเจ้าตัวทราบภายหลัง ว่า เป็นการรับของขวัญ โดยฝ่าฝืนระเบียบนี้ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรายงานการรับของขวัญนั้น ต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงผู้บังคับบัญชาสูงสุดภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้ทราบ

 

ซึ่งเป็นการกำหนดวิธีการ และระยะเวลาเพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้ปฏิบัติอย่างถูกต้อง จากเดิมระเบียบกำหนดไว้ว่า ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ป.ป.ช.กำหนดไว้

 

"เมื่อผู้บังคับบัญชาสูงสุดได้รับรายงานดังกล่าวแล้วและเห็นว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบนี้ ให้มีคำสั่งคืนของขวัญนั้นแก่ผู้ให้โดยทันที

 

 ในกรณีที่ไม่สามารถคืนของขวัญได้ ให้ส่งของขวัญที่ได้รับให้เป็นสิทธิของหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นสังกัดอยู่ และเก็บรักษาของขวัญนั้นไว้เป็นระยะเวลา 1 ปี เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ให้เป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงานนั้น สั่งให้นำของขวัญออกขายและนำเงินที่ได้ส่งคืนเป็นรายได้แผ่นดิน เป็นการเพิ่มบทบัญญัติวิธีปฏิบัติเมื่อผู้บังคับบัญชาได้รับรายงาน และกำหนดวิธีปฏิบัติและการเก็บรักษาของขวัญให้มีความชัดเจน

 

ขณะที่บทลงโทษ ระบุว่า ผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ใดจงใจปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ของขวัญหรือรับของขวัญ โดยฝ่าฝืนระเบียบนี้ ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยหรือไม่ประพฤติตนให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และให้ดำเนินการตามกฎหมาย กฎ ประมวลจริยธรรมฯ หรือมติครม.ที่เกี่ยวข้องต่อไป เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ภายใต้ระเบียบนี้มีหลายประเภท จึงได้กำหนดบทลงโทษให้เป็นไปตามที่เจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทนั้นๆ สังกัดอยู่ จากเดิมระบุเพียงว่า ให้ถือว่ากระทำความผิดทางวินัย

 

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่สอดส่อง ดูแลและให้คำแนะนำในการปฏิบัติตามระเบียบนี้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นผู้อยู่ในบังคับบัญชาของตน เป็นการเพิ่มหน้าที่ให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งในการให้คำแนะนำในการปฏิบัติตามระเบียบนี้ จากเดิมระบุว่าให้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) มีหน้าที่สอดส่องและให้คำแนะนำในการปฏิบัติตามระเบียบนี้แก่หน่วยงานของรัฐ

 

ขณะเดียวกันในร่างระเบียบฯยังกำหนดไว้ด้วยว่า ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้วิธีการแสดงความยินดี การแสดงความขอบคุณ การต้อนรับ การแสดงความเสียใจ หรือกรณีอื่นๆในโอกาสต่างๆตามปกติประเพณีนิยมด้วยวิธีการอย่างอื่นแทนการให้ของขวัญ เช่น การใช้บัตรอวยพร การลงนามในสมุดอวยพร การสื่อสารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือการทำกิจกรรมจิตอาสา และให้ผู้บังคับบัญชาส่งเสริมการสร้างค่านิยมการแสดงความยินดี ด้วยการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง แนะนำหรือกำหนดมาตรการจูงใจที่จะพัฒนาทัศนคติ จิตสำนึก และพฤติกรรมของผู้อยู่ในบังคับบัญชาให้เป็นไปในแนวทางประหยัด

 

ถือว่าเป็นกฎหมายใหม่ ที่ไม่รู้จะปฏิบัติได้จริงมากน้อยเพียงใด ในยุคดิจิทัลที่วิธีการทุจริตที่เปลี่ยนรูปแบบจนไล่จับกันไม่ทัน และยังเป็นโจทย์ใหญ่แก้ปัญหาท่ามกลางความเป็นจริง ที่อันดับของประเทศไทยล่าสุด ปี 2564 อยู่ใน อันดับที่ 110 จาก 180 ประเทศ

 

นับว่าเป็นอันดับต่ำที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

 

Related posts

© Copyright 2018, All Rights Reserved