Trending News

Blog Post

"โรคหลอดเลือดสมอง" วัยไหน ก็เป็นได้ เปิดสัญญาณเสี่ยง รู้ทันป้องกัน อัมพาต
สุขภาพ

"โรคหลอดเลือดสมอง" วัยไหน ก็เป็นได้ เปิดสัญญาณเสี่ยง รู้ทันป้องกัน อัมพาต 

"โรคหลอดเลือดสมอง" stroke สาเหตุการ ตาย และ พิการ อันดับต้นของไทย วัยไหน ก็เป็นได้ เปิดสัญญาณเสี่ยง รู้ทัน ป้องกัน "อัมพาต"

วันที่ 29 ตุลาคมของทุกปี องค์การโรคหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Organization : WSO) ได้กำหนดให้เป็นวันหลอดเลือดสมองโลก หรือ วันอัมพาตโลก ซึ่ง "โรคหลอดเลือดสมอง" หรือ stroke เป็นสาเหตุการตาย เป็นอันดับสอง และพิการเป็นอันดับสามของคนทั่วโลก และเป็นสาเหตุการเสียชีวิต และความพิการลำดับต้น ๆ ของประเทศไทย ใครจะรู้ว่า วันหนึ่งอาจเป็นเรา ที่นั่งทำงานอยู่ดี ๆ อาจเกิดอาการแขนขาอ่อนแรง หรือปวดศรีษะอย่างรุนแรง จนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แล้วสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากอะไร หากรู้เท่าทัน อาจป้องกันอัมพาตได้

 

 

 

 

 

 

 

โรคหลอดเลือดสมอง คืออะไร

 

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือ หลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อสมองถูกทำลาย ทำให้การทำงานของสมองบางส่วนหรือทั้งหมดผิดปกติไป อาการมักจะเกิดขึ้นทันทีทันใด

 

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

 

  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคไขมันในเลือดสูง
  • โรคเบาหวาน
  • โรคหัวใจ
  • โรคอ้วน
  • ขาดการออกกำลังกาย
  • บริโภคอาหารไม่เหมาะสม
  • สูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

โรคหลอดเลือดสมอง

สาเหตุภาวะผิดปกติของโรคหลอดเลือดในสมอง

 

โรคหรือภาวะหลอดเลือดในสมองผิดปกติ พบได้ตั้งแต่อายุ 20, 30, 40 ปี ไปจนถึงวัยกลางคน ไปจนถึงผู้สูงอายุ สาเหตุรูปแบบของการผิดปกติ มีความแตกต่างกันหลายรูปแบบ ดังนี้

 

  • ในกลุ่มคนอายุน้อย อาจจะเป็นลักษณะของความผิดปกติแต่กำเนิด เป็นความผิดปกติของระดับพันธุกรรมที่ให้หลอดเลือดในสมองผิดปกติเกิดเป็นปาน เกิดมีการต่อกันของหลอดเลือดผิดปกติ
  • ในวัยกลางคน มักจะเกิดจากการใช้ชีวิต สูบบุหรี่จัด ดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนใหญ่สาเหตุหลัก ๆ จะมาจากการสูบบุหรี่ นอกนั้นก็จะเป็นเรื่องของสารเคมีที่ใช้ หรือยาที่ใช้ ยาบางอย่างก็ทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือด เช่น มีการอุดตัน หรือมีการอักเสบของหลอดเลือดได้
  • ในผู้สูงอายุ จะเป็นลักษณะของความเสื่อม คือผนังหลอดเลือดมันเสียความยืดหยุ่นไป หรือมีภาวะของโรค เช่น เบาหวาน ความดัน โรคเลือด ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดในวัยกลางคน และวัยผู้สูงอายุ

โรคหลอดเลือดสมอง

สัญญานเตือนภาวะผิดปกติของโรคหลอดเลือดสมอง

 

อาการหลักคือ อาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่ามัว แขนขาอ่อนแรง หรือมีการพูดไม่ชัด แต่โอกาสที่มันจะเตือน ระยะเวลามันสั้นมาก บางคนไม่คิดด้วยซ้ำว่า อันนี้คือการเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง เพราะจริง ๆ แล้ว อาการปวดศีรษะ อาการคลื่นไส้ อาเจียน มันเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เพราะฉะนั้น ค่อนข้างยากที่จะบอกว่าเป็นอาการของหลอดเลือดสมอง แต่ก็ต้องบอกว่าอาการปวดศีรษะ อาการคลื่นไส้ อาเจียน เป็นอาการนำของการเกิดภาวะของหลอดเลือดผิดปกติในสมอง

 

อาการโรคหลอดเลือดสมองตามหลัก FAST

 

  • F (Face) ผู้ป่วยจะมีอาการหน้าเบี้ยว หรือปากเบี้ยวด้านใดด้านหนึ่ง หรือผู้ป่วยบางท่านอาจมีอาการระหว่างรับประทานอาหาร เช่น อาหารไหลออกจากปาก หรือน้ำลายไหลออกจากมุมปากด้านใดด้านหนึ่ง ทดสอบง่าย ๆ ได้โดยให้ผู้ป่วยลองยิ้ม หรือยิงฟัน แล้วสังเกตว่าปากเบี้ยวหรือมุมปากตกหรือไม่?
  • A (Arms) อาการแขนขาอ่อนแรง ผู้ป่วยจะขยับแขนขาด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ โดยอาจจะเป็นเฉพาะขา หรือเป็นทั้งแขนขาซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นด้านเดียวกัน ทดสอบง่าย ๆ โดยการให้ผู้ป่วยลองยกแขนขาทั้งสองข้าง ถ้าตกด้านใดด้านหนึ่ง แสดงว่ามีความผิดปกติ
  • S (Speech) ผู้ป่วยจะมีอาการพูดไม่ชัด พูดอ้อแอ้ เหมือนลิ้นคับปาก หรือบางคนมีอาการพูดไม่ออก หรือฟังคำสั่งไม่รู้เรื่อง ญาติบางคนอาจคิดว่าผู้ป่วยมีอาการสับสน ทดสอบได้ง่าย ๆ โดยการให้ผู้ป่วยพูดตามในคำง่าย ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร หรือชี้ให้ดูปากกา นาฬิกา แล้วถามว่าของสิ่งนั้นเรียกว่าอะไร หรือให้ทำตามคำสั่งง่าย ๆ เช่น ชูสองนิ้ว เป็นต้น
  • T (Time) เพราะเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง การรีบนำผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีภาวะโรคหลอดเลือดสมองจากการสังเกตหลัก FAST ไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับสมอง เพราะทุกวินาทีที่ผ่านไป เซลล์สมองจะเสียหายมากขึ้น ซึ่งหากได้รับการรักษาที่รวดเร็ว จะช่วยลดความเสียหายของเนื้อสมอง

 

อาการของโรคหลอดเลือดสมองมักเป็นทันทีทันใด ถ้าเราสามารถสังเกตอาการได้อย่างทันท่วงที จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตและลดความเสี่ยงอัมพฤกษ์ อัมพาต และรักษาการทำงานของสมองให้กลับมาเป็นปกติได้

ออกกำลังกาย ป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง

การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

 

  • ตรวจวัดความดันเลือดอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่ามีความดันเลือดมากกว่า 140/80 mmHg ควรพบแพทย์ และรับประทานยาลดความดันอย่างสม่ำเสมอ ตามแพทย์สั่ง
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยการลดอาหารเค็ม หวานจัด มันจัด เพิ่มผักผลไม้
  • เลิกสูบบุหรี่ งดการดื่มสุรา
  • ลดน้ำหนัก ในกรณีที่มีน้ำหนักเกิน
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง โดยการออกกำลังกาย ควรเป็นการออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นกว่าปกติ อย่างน้อย 10-20 ครั้ง ต่อนาที และอย่างน้อยครั้งละครึ่งชั่วโมง
  • ตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี เพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด และค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่มาของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
  • ตรวจร่างกายทางด้านหัวใจว่ามีความผิดปกติของการเต้นของหัวใจหรือไม่ 

 

 

 

ขอบคุณที่มา : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube – https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday – https://today.line.me/th/v2/publisher/100057

Related posts

© Copyright 2018, All Rights Reserved