Trending News

Blog Post

"แผ่นดินไหว" ภาคเหนือ ถี่ นักวิจัย เร่ง ศึกษาวิจัย เพื่อเตรียมรับมือ
สังคม

"แผ่นดินไหว" ภาคเหนือ ถี่ นักวิจัย เร่ง ศึกษาวิจัย เพื่อเตรียมรับมือ 

นักวิจัย ย้ำ หลังเกิด "แผ่นดินไหว" ภาคเหนือ ที่ แพร่ และ เชียงใหม่ ประชาชนต้องพร้อมรับมือในรูปแบบต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงและการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน พร้อมเร่งศึกษาวิจัย แหล่งกำเนิด และพัฒนาระบบตรวจสอบสมรรถนะของโครงสร้างแบบระยะยาว

ภายหลังจาก กรมอุตุนิยมวิทยา ได้รายงานว่าเกิด "แผ่นดินไหว" ที่ประชาชนรู้สึกได้อย่างกว้างขวางในภาคเหนือถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็น "แผ่นดินไหว" ขนาด 3.7 ที่ตำบลแม่ปาน อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เมื่อเวลา 01.39 ตามเวลาประเทศไทย และครั้งที่ 2 "แผ่นดินไหว" ขนาด 4.1 เวลา 04.46 ที่ตำบลแม่คือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โดยขณะนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบกำลังตรวจสอบความเสียหายของบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบนั้น

 

รศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ นักวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า  "แผ่นดินไหว" จังหวัดแพร่เกิดในบริเวณที่มีกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังเถินพาดผ่าน ซึ่งเคยเกิด "แผ่นดินไหว" มาแล้วหลายครั้ง เช่น "แผ่นดินไหว" ขนาด 5.0 ที่อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ในปี 2538 และแผ่นดินไหวขนาด 2-3 ในช่วงปี 2560-2562 ที่อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ห่างจากแผ่นดินไหวปัจจุบันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 70 กิโลเมตร ส่วนแผ่นดินไหวที่ จังหวัดเชียงใหม่ เกิดในบริเวณที่มีกลุ่มรอยเลื่อนมีแม่ทาพาดผ่าน ซึ่งมีแผ่นดินไหวมาโดยตลอดโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ "แผ่นดินไหว" ครั้งสำคัญมีขนาด 5.1 ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2549 สร้างความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง 

 

"แม้ว่า "แผ่นดินไหว" ทั้งสองครั้งจะเกิดห่างกันเพียง 3 ชั่วโมง แต่ก็มีขนาดไม่ใหญ่และมีระยะทางห่างกันประมาณ 120 กิโลเมตร จึงเชื่อได้ว่าแผ่นดินไหวทั้งสองตัวไม่ได้มีความสัมพันธ์กัน และแผ่นดินไหวที่จังหวัดแพร่ไม่ได้กระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่าที่จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้เราไม่สามารถทำนายการเกิดแผ่นดินไหวล่วงหน้าได้ ประชาชนจึงควรมีความพร้อมรับมือ "แผ่นดินไหว" ในรูปแบบต่างๆ เช่น เรียนรู้ธรรมชาติและความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวในพื้นที่ที่อาศัย ปรับปรุงอาคารบ้านเรือนให้แข็งแรงขึ้น หรือทราบวิธีการปฏิบัติตนเมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้น เพื่อเป็นการลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินจากแผ่นดินไหว ทั้งยังจำเป็นต้องศึกษาวิจัยในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหว เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น"

 

แผ่นดินไหว

 

นักวิจัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กำลังดำเนินงานวิจัยโครงการการสร้างแบบจำลองระบบธรณีแปรสัณฐานของประเทศไทย เพื่อประเมินสภาวะความเค้นของธรณีภาคและความเสี่ยงแผ่นดินไหว ภายใต้ชุดโครงการลดภัยพิบัติจาก "แผ่นดินไหว" ในประเทศไทย และโครงการการศึกษาแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวของประเทศไทย และการกำหนดตำแหน่งและประเมินผลกระทบของรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวในเขตเมืองจากการตรวจวัด "แผ่นดินไหว" ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจธรรมชาติของการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย และสามารถนำผลการศึกษาเป็นข้อมูลสำคัญในการรับมือและลดผลกระทบจากแผ่นดินไหวของประเทศไทยต่อไปในอนาคต 

 

ขณะที่ ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ระบุว่าฝั่งตะวันตกของประเทศไทยตั้งแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอนลงมามีรอยเลื่อนที่มีพลังมาก แม้จะสะสมพลังงานช้าแต่มีศักยภาพทำให้สามารถทำให้เกิด "แผ่นดินไหว" ได้สูงถึง 7 ริกเตอร์ คณะวิจัยจึงได้นำข้อมูลมาแปลงเป็นแผนที่เสี่ยงภัยเพื่อหามาตรการรองรับที่เหมาะสม เช่น ออกแบบอาคารให้ต้านทาน "แผ่นดินไหว" จำกัดพื้นที่ควบคุม 10 จังหวัดตั้งแต่อาคาร 3 ชั้นขึ้นไป บังคับใช้อาคารสาธารณะ อาคารสำคัญ อาคารเก็บวัสดุอันตราย และอาคารทั่วไปที่สูงเกิน 15 เมตร หลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขนาด 6.3 ที่จังหวัดเชียงรายเมื่อปี 2557 เป็นเหตุให้อาคารถล่มกว่าหมื่นหลังทั้งบ้าน วัด โรงเรียน คณะวิจัยได้เข้าไปเสริมกำลังด้วยโครงสร้างเหล็กให้โรงเรียนนำร่อง 7 โรงเรียน ใช้งบประมาณ 1 ใน 7 ของการสร้างใหม่ ภายใต้ความร่วมมือของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ของไทย รวมทั้งมหาวิทยาลัยนานยาง ประเทศสิงคโปร์ และหน่วยงานของไต้หวัน 

 

ด้าน รศ. ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ นักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า "แผ่นดินไหว" ที่ จังหวัดเชียงใหม่ มีระยะทางห่างจากอาคารโรงพยาบาลในเขตอำเภอเมืองประมาณ 15 กิโลเมตรจากการวิเคราะห์สัญญาณการโยกตัวของอาคารที่ตรวจวัดได้จากอุปกรณ์ราคาประหยัด ซึ่งคณะวิจัยได้ติดตั้งไว้ภายในอาคารโรงพยาบาล พบว่าค่าความเร่งที่ตรวจวัดได้บ่งชี้ว่าอาคารมีการสั่นสะเทือนที่มีความรุนแรงพอที่ประชาชนที่อยู่ในอาคารอาจจะรู้สึกการสั่นสะเทือนได้ แต่ยังไม่ถึงระดับที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่อาคารได้

 

ทั้งนี้ ทีมวิจัย พยายามพัฒนาระบบที่สามารถประเมินความปลอดภัยของอาคารสำหรับการให้ข้อมูลผู้ใช้งานอาคารเกิดความมั่นใจ และสามารถใช้งานอาคารได้ทันทีหลังเกิดเหตุการณ์ภัยแผ่นดินไหว ซึ่งโครงการวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในโครงการ "การปรับปรุงข้อมูลคุณสมบัติเชิงพลศาสตร์ของอาคาร และการพัฒนาระบบตรวจสอบสมรรถนะของโครงสร้างแบบระยะยาว" ซึ่งมี ศ. ดร.นคร ภู่วโรดม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ

 

นักวิจัย

 

 

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w

 

Related posts

© Copyright 2018, All Rights Reserved