Trending News

Blog Post

"รมช.มนัญญา" ชื่นชมผลงาน กรมวิชาการเกษตร ร่วม ฉลอง 50 ปี
ประชาสัมพันธ์

"รมช.มนัญญา" ชื่นชมผลงาน กรมวิชาการเกษตร ร่วม ฉลอง 50 ปี 

"มนัญญา" รมช.เกษตรและสหกรณ์ ชื่นชมผลงาน กรมวิชาการเกษตร ร่วมฉลอง 50 ปีพร้อมลงนาม 2MOU ใหญ่ กัญชง กัญชา และก๊าซเรือนกระจก

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีอ่านสารแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสวันสถาปนากรมวิชาการเกษตร ครบรอบ 50 ปี  
ณ กรมวิชาการเกษตร ว่า กรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้รับการสถาปนาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2515 ซึ่งในช่วง 50 ปีที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรมีผลงานวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีต่างๆ มากมายที่ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร รวมทั้งแก้ปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชระบาดทำความเสียหายให้กับผลผลิตพืช ควบคุมดูแลคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรทั้งส่งออกและนำเข้า พร้อมยกระดับมาตรฐานการผลิตเพื่อพัฒนาผลผลิตพืชให้มีคุณภาพและปลอดภัย รวมถึงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ การใช้สารชีวภัณฑ์แทนสารเคมี นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตรยังขับเคลื่อนงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากกว่า 250 โครงการมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน 
กรมวิชาการเกษตรจึงนับเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการเกษตรไทย พร้อมกับขับเคลื่อนภาคการเกษตรของประเทศให้มีความก้าวหน้าตลอดมา

 

การจัดงานสถาปนากรมวิชาการเกษตรในวันที่ 3 ตุลาคม 2565 นี้ กรมวิชาการเกษตรได้นำผลงานวิจัยส่วนหนึ่งที่นำไปใช้แก้ปัญหาให้เกษตรกรมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการ พร้อมกับมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการก๊าซเรือนกระจก ร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และความร่วมมือทางวิชาการกัญชา กัญชง เพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์อย่างครบวงจรร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งการลงนามความร่วมมือทั้ง 2 ประเด็นนี้
ถือเป็นภารกิจสำคัญที่กรมวิชาการเกษตรเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงาน

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์  รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ชื่นชมผลงานกรมวิชาการเกษตร ร่วมฉลอง 50 ปี

 

 

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตร ได้รับเกียรติจากท่าน มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีการจัดงานครบรอบ 50 ปี กรมวิชาการเกษตร และร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2 หน่วยงาน พร้อมชมนิทรรศการผลงานเด่นของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ การพัฒนาและขยายผลปุ๋ยชีวภาพและชีวภัณฑ์เพื่อการผลิตพืชอินทรีย์อย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรฉะเชิงเทราได้ดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 

 

โดยต่อยอดการขยายผลปุ๋ยชีวภาพและชีวภัณฑ์ที่เป็นเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรสู่เกษตรกรและพัฒนาพื้นที่เป็นแปลงเรียนรู้การผลิตพืชในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ ทำให้สามารถยกระดับฐานะ
ความเป็นอยู่ของเกษตรกรรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ให้ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

 

การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพจากหอมแดง งานวิจัยนี้ได้สกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากหอมแดง นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่หอมแดง พร้อมทั้งขยายผลเทคโนโลยีให้แก่กลุ่มวิสาหกิจผู้ปลูกหอมแดงในจังหวัดศรีสะเกษ และกลุ่มวิสาหกิจการเกษตรศรีสะเกษแฟร์เทรด วางจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ เป็นการขยายตลาดการค้าของผลิตภัณฑ์จากหอมแดงเพื่อสร้างธุรกิจจากผลิตผลทางการเกษตรของไทย สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและประเทศ

 

การเพิ่มประสิทธิภาพตรวจสอบและรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับลำไยสดส่งออกไปจีน ภายใต้ พ.ร.บ.กักพืช กรมวิชาการเกษตรได้รับการแจ้งเตือนจากจีนกรณีการปนเปื้อนของแมลงศัตรูพืชที่ติดไปกับลำไยส่งออกจึงได้จัดทำมาตรการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการปนเปื้อนของแมลงศัตรูพืช ณ โรงคัดบรรจุ โดยแบ่งการจัดการเป็น 2 ส่วน คือ พนักงานเจ้าหน้าที่ และผู้ประกอบการ ผลจากการดำเนินการสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบและรับรองสุขอนามัยพืชลำไยสดส่งออกไปจีน ทำให้จีนยอมรับในมาตรการดังกล่าว ส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกลำไยผลสดไปจีนได้ต่อไป

 

ถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 3 กรมวิชาการเกษตรได้วิจัยปรับปรุงพันธุ์ถั่วเขียวให้มีผลผลิตสูง คุณภาพดีเหมาะสำหรับการแปรรูป จนได้ถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 3 ให้ผลผลิตสูง 232 กิโลกรัมต่อไร่ ขนาดเมล็ดใหญ่ เหมาะสำหรับการเพาะถั่วงอก เกษตรกรนำไปปลูกในพื้นที่รวม 83,700 ไร่ ได้ผลผลิตถั่วเขียวจำนวน 11,878 ตัน สร้างรายได้ รวมมูลค่า 297 ล้านบาท ส่งผลให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองและเสริมสร้างระบบการผลิตที่ยั่งยืน

 

การพัฒนาเครื่องพ่นสารป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดแบบอุโมงค์ลม ปัญหาหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดระบาดมากกว่า 500,000 ไร่ มูลค่าความเสียหาย 3,400 ล้านบาท กรมวิชาการเกษตร ได้พัฒนาเครื่องพ่นสารแบบอุโมงค์ลมที่ใช้แรงลมความเร็วสูงช่วยทำให้ละอองสารตกสู่เป้าหมาย เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด และประหยัดสารควบคุมศัตรูพืชได้มากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

  

ชีวภัณฑ์เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีควบคุมไส้เดือนฝอยรากปม  กรมวิชาการเกษตร ได้ศึกษาวิจัยพบเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีผลต่อการตายของตัวอ่อนไส้เดือนฝอยรากปม ซึ่งเป็นระยะสำคัญที่ก่อให้พืชเป็นโรครากปม นอกจากนี้ในเส้นใยของเห็ดเรืองแสงยังมีสารออกฤทธิ์อื่นๆ สามารถใช้ควบคุม
โรครากปมที่มีสาเหตุจากไส้เดือนฝอยรากปมที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับพืช เช่น ฝรั่ง พริก มะเขือเทศ มะละกอ กล้วย มันสำปะหลัง และพืชในวงศ์ผักชี

 

แอปพลิเคชันวินิจฉัยโรคบนใบมันสำปะหลัง งานวิจัยนี้ได้ประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ มาเป็นเครื่องมือช่วยในการวิเคราะห์เชิงลึกร่วมกับเทคโนโลยีดิจิทัล พัฒนาโมเดลการจำแนกโรคที่แสดงบนใบ
มันสำปะหลัง พร้อมจัดทำเป็นระบบและคำแนะนำที่เข้าใจง่ายและเข้าถึงผู้ใช้งานได้อย่างแพร่หลาย เป็นการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีให้แก่เกษตรกร ซึ่งการวินิจฉัยอาการจากโรคและแมลงศัตรูพืชต่างๆ ได้เบื้องต้นเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยให้การปลูกมันสำปะหลังมีคุณภาพ

 

ผลิตภัณฑ์สารสกัดพืช สะเดา+หางไหล และว่านน้ำ+หางไหล นาโนเทคโนโลยี ป้องกันกำจัดแมลงในพืชตระกูลกะหล่ำ งานวิจัยนี้ได้นำสารสกัดจากพืชมาผสมรวมกันเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป สูตรผสมสะเดา+หางไหล และว่านน้ำ+หางไหล เพื่อเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช ร่วมกับการนำ
นาโนเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพิ่มประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์ของสารให้ได้ผลที่ดียิ่งขึ้น สนับสนุนนโยบายลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร และส่งเสริมเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย

 

“นอกจากนี้ ยังมีผลงานเด่นที่สำคัญ ได้แก่ การใช้ประโยชน์งานวิจัยด้านการศึกษาสถานภาพพืชอนุรักษ์ : กล้วยไม้ดินสกุลเอื้องใบหมาก การค้นหาและพัฒนาเครื่องหมายสนิปส์ใหม่เพื่อร่นระยะเวลา
การปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังให้มีไซยาไนด์ต่ำต้านทานโรครากปมและโรคใบด่างมันสำปะหลัง และการผลิตผักสลัดในระบบ Plant factory ซึ่งทุกผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรที่นำมาจัดแสดงนิทรรศการนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยและเทคโนโลยีอีกจำนวนมากที่ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมาได้ถ่ายทอดไปสู่เกษตรกรเพื่อสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้ก้าวไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

 

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่

เพิ่มเพื่อน Line: https://lin.ee/qw9UHd2

Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/

 

Related posts

© Copyright 2018, All Rights Reserved