Categories: วาไรตี้
| On 2 years ago

12 สิงหาคม วันผ้าไทยแห่งชาติ (National Thai Textile Day)

เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะ ปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการส่งเสริมเรื่อง "ผ้าไทย" เป็นที่ประจักษ์มาอย่างยาวนาน 
จากสิ่งทอท้องถิ่นที่สูญหายไป ให้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน 
ทางกระทรวงวัฒนธรรมที่นำโดยนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมจึงเสนอให้วันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปีเป็น "วันผ้าไทยแห่งชาติ"
เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 จึงมีมติเห็นชอบให้วันที่ 12 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันผ้าไทยแห่งชาติ ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ

ผ้าไทย คือผ้าทอมือที่มีการผลิตในประเทศไทย โดยมีเอกลักษณ์เฉพาะในแต่ละท้องถิ่น ประวัติผ้าไทยไม่ปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากนัก เนื่องจากมีการให้ความสำคัญในด้านอื่นๆ มากกว่า
 แต่เราพอจะสืบหาประวัติของผ้าไทยในสมัยก่อนได้บ้างจากวรรณคดี จิตรกรรมฝาผนัง และมรดกศิลปะที่คงเหลืออยู่ในบางท้องถิ่น

ภาคกลาง
ผ้าไทยในภาคกลาง ไม่ปรากฏร่องรอยที่ชัดเจนของกลุ่มช่างทอผ้าในอดีต แม้จะมีการปลูกฝ้ายกันมากก็ตาม ในภายหลังมีการอพยพชาวบ้านจากหัวเมืองล้านนา จากฝั่งลาวลงมา
-ชาวลาวเวียง แถบอุทัยธานีและชัยนาท นิยมทอผ้าจกไหม
-ชาวไทยยวน แถบสระบุรีและราชบุรี ทอผ้าซิ่น มัดก่าน ตีนจก และยกมุก
-ชาวไทยพวน แถบลพบุรี นิยมทอผ้ามัดหมี่
-ชาวไทยดำ แถบเพชรบุรี นิยมทอผ้าพื้น หรือผ้าซิ่นลายแตงโม
-ชาวกรุงเทพมหานครนั้น ยังมีชาวมุสลิม ที่เรียกว่าแขกจาม ทอผ้าไหม จนถึงทุกวันนี้

ภาคใต้
ผ้าไทยในภาคใต้ ลักษณะเป็นผ้ายก แบบหลายตะกอ เช่น ผ้ายกเมืองนคร ผ้าเกาะยอ และผ้าพุมเรียง ลักษณะลวดลายมีทั้งเป็นลายดอกเล็กๆ 
พรมไปทั้งผืน หรือยกลายเน้นเชิง เดิมนั้นเข้าใจว่าเป็นผ้าไหม เชื่อกันว่า ผ้ายกของภาคใต้นั้นน่าจะได้รับอิทธิพลจากแถบมลายู 
ปัจจุบัน ยังคงเหลือผ้ายกของชาวพุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวมุสลิมเพียงแห่งเดียวในภาคใต้ที่ยังทอผ้าไหม

ภาคเหนือ
ผ้าไทยในภาคเหนือ ผ้าโบราณของภาคเหนือมีความโดดเด่นที่ผ้าของเจ้านายล้านนา ที่นิยมใช้ผ้ายกดอก ทอด้วยไหมเงินไหมทอง นอกจากนี้วัฒนธรรมผ้าที่หลากหลายโดยทั่วไป
เพราะเป็นถิ่นเดิมของชาวไทยวน ที่มีชื่อเสียงด้านผ้าซิ่นตีนจก ในภาคเหนือยังมีผ้าชาวเขาจากหลายเผ่า เช่น กะเหรี่ยง แม้ว เย้า อีก้อ ลีซอ ปะหล่อง ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งเทคนิคการทอ วัสดุ และลวดลาย