| On 2 years ago

"เครือเนชั่น"จัดงาน Thailand Survival ระดมเเนวคิด ทางรอดประเทศไทยพ้นวิกฤต

  เครือเนชั่น จัดงาน Thailand Survival "ไทย..จะรอดอย่างไรในวิกฤติโลก" ในวันที่ 1ส.ค.65  ที่ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ โดยงานนี้ได้ระดม นักธุรกิจ,นักการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ตัวแทนพรรคการเมือง ร่วมแนะแนวทางประเทศไทยรอดพ้นวิกฤต ก้าวสำคัญเพื่อพาประเทศไทยฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ


โดย นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนา กล่าวตอนหนึ่งในงาน  แนะ 5 แนวทางพาไทยฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ เสนอรัฐเร่งฟื้นฟูท่องเที่ยว-แก้ไขปัญหาราคาสินค้า-พลังงานแพง พาไทยฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดย ภาพรวมที่เกิดขึ้นกับไทย คือโลกและตัวเรา โดยขอเสนอแนวทางของไทยเป็น 2 ส่วน  เริ่มที่ปัญหาเฉพาะหน้า วันนี้เศรษฐกิจมีปัญหาเงินเฟ้อ สงคราม การที่จะหวังนักลงทุนคงลำบาก  นักท่องเที่ยวที่เคยเข้ามามากขณะนี้ลดลง ดังนั้นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ


ส่วนการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม SME  ที่มีความเป็นห่วงหากอยู่ไม่ได้ แล้ววันหนึ่งหากนักท่องเที่ยวกลับมาจะทำอย่างไร วันนี้การกระตุ้นเศรษฐกิจที่เร็วที่สุดคือท่องเที่ยว เขาไม่ต้องการความเชื่อมั่นอะไรยาวๆ เหมือนนักลงทุน แค่มาเที่ยวแล้วปลอดภัย รวมถึงเสริมความง่ายในการเข้าประเทศ จะช่วยส่งเสริมในส่วนนี้ จากนั้นเรื่องสินค้าราคาแพง ไฟฟ้าจะขึ้นราคาอีก รัฐบาลต้องลงมาช่วยเรื่องสินอุปโภคบริโภคอย่างจริงจัง และพลังงานที่แพงที่ควบคุมไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือการประหยัดพลังงานอย่างจริงจังนั่นเอง 

ขณะที่ช่วงฟื้นฟูหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 เราจะต้องเตรียมการสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป และประเทศไทยต้องหาตัวตนของตนเอง โดยเสนอ 5 เรื่อง คือ หาตัวตนหาจุดแข็งของไทยและนำมาใช้ โดยมองว่าของเราคือด้านเกษตร อาหาร ท่องเที่ยว ถัดมาต้องรีสตาร์ทเรื่องพลังงาน ที่เราผูกติดกับพลังงาน ควรจะมาใช้พลังงานทดแทนให้มาเป็นพลังงานหลัก

ในขณะที่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย กล่าวในหัวข้อเศรษฐกิจไทยจะก้าวผ่านอย่างไร ? ในงานสัมมนา Thailand Survival   ฝากการบ้านรัฐบาล 8 เดือนสุดท้ายอย่าโหมประชานิยม โดย ประเทศไทยเราเจอมาหลายวิกฤต และเศรษฐกิจเราไม่เคยขยายตัวได้เกิน 4% มาตั้งแต่ปี 2557 ถ้ามองระยะยาว ผู้บริหารประเทศต้องคิดว่าอะไรคือกับดักการเติบโตของเศรษฐกิจไทย เราเคยได้ถึง 4.1% ในปี 2561 แต่ก็ถูกกดดันจากหลายเรื่องจากปัญหาภายนอกและโควิด-19 จนเศรษฐกิจลงไปต่ำถึง -6.1%

ดังนั้น เราต้องฝากความหวังไว้กับ 8 เดือนสุดท้ายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพื่อรักษาโอกาสการแข่งขันของประเทศ และสถานะของประเทศในระยะยาว แต่ในช่วงเวลา 8 เดือนสุดท้ายก็ค่อนข้างที่กังวลเรื่องโครงสร้างการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล

   รัฐบาลนี้มี ครม. เศรษฐกิจแยกส่วน แต่ขณะนี้วิกฤตชาติใหญ่เกินกว่าจะมองแค่เฉพาะพรรค ใหญ่เกินกว่าจะมองเฉพาะกระทรวง ผ่านมา 3 ปีครึ่งผมยังไม่เห็นการทำงานแบบวอร์รูมเกาะติดแบบบูรณาการ เชิงทำงานในแบบแนวคิดและเกาะติดที่จะแก้ปัญหาเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศแบบจริงจัง พร้อมเสริมด้วยว่า และที่ห่วงอย่างยิ่งก็คือ 8 เดือนนี้ใกล้เลือกตั้ง กังวลใจว่าจะเป็นการบริหารเชิงหาเสียง เชิงประชานิยม ที่จะซ้ำเติมประเทศไทยมากขึ้น

   ด้าน นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า ชี้ทางรอดจากวิกฤตโลก  ระบุว่า วิกฤติที่เผชิญอยู่ขณะนี้เป็นวิกฤติแบบฉับพลัน  วิธีและเครื่องมือในปัจจุบันใช้ไม่ได้อีกต่อไป  พร้อมเสนอทฤษฎี "ไม้เสียบลูกชิ้น" ออกกฎหมายหนุนเรื่องเด่นของประเทศ  อย่างการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศ  , ส่งเสริมเรื่อง EV , เกษตรกรรม เปลี่ยนโฉมระบบราชการ อย่าคิดว่าเอกชนเป็นเพื่อนและหวังแค่เอกชนจะได้กำไรอย่างเดียว  เปิดทางรายย่อย-SMEs เข้าถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ


 ในส่วนของ นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตอนหนึ่งในงาน "Thailand Survival ไทย.. จะรอดอย่างไรในวิกฤตโลก" จัดโดยเครือเนชั่น ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ โดยชี้ให้เห็นถึงแนวทางการรับมือปัญหาในอนาคต รวมถึงปัญหาสังคมผู้สูงวัย ซึ่งปัจจุบันคนวัยทำงานน้อยลง โดยเฉพาะในธุรกิจที่ต้องประสบกับปัญหาดังกล่าว และอุตสาหกรรมต่างๆต้องปรับตัว  ต้องให้ความสำคัญด้านการศึกษาให้ความรู้ด้านการเงิน ซึ่งเป็นต้นตอของการเกิดหนี้ครัวเรือน เพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจต่างๆ มีความรู้เรื่องการบริหารการเงิน


  เเละ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวตอนหนึ่งในงาน Thailand Survival ไทย.. จะรอดอย่างไรในวิกฤตโลก ว่า  โจทก์วันนี้คือเศรษฐกิจของประเทศไทยจะก้าวเป็นอย่างไร เพราะหากปล่อยให้ก้าวไปตามยถากรรมจะเป็นก้าวที่เจ็บปวด ดังนั้นเพื่อไทยขอเสนอ 6 ก้าวสำคัญที่จะให้ประเทศไทยก้าวข้ามวิกฤต ได้ใน 6 เดือน และจะเจ็บตัวน้อยที่สุด

"รัฐบาลต้องอัดฉีดมาตรการ เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว ต่อมาต้องลดต้นทุนการผลิต กระตุ้นการจ้างงาน หากเพื่อไทยเป็นรัฐบาลวันนี้ เราจะมีสินเชื่อเพื่อกระตุ้นการจ้างงาน มีมาตรการช่วยเอกชนเรื่องค่าจ้าง จากการมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมัน ต้องมีทลายกับดักหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นกับดักระเบิดลูกใหญ่ และถูกเร่งปฏิกิริยาจากกันปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ดังนั้นภาครัฐจะต้องซื้อเวลาและช่วยในเวลาสั้นคือ การพัก รวม ยื่น ลดหนี้ รวมทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ "

 


 ด้าน นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยผ่าน งาน สัมมนา Thailand Survival ไทย..จะรอดอย่างไรในวิกฤติโลก  ในนามนายกสมาคมชาวนาฯ จะฉายภาพให้เห็นว่าเกษตรกรชาวนาทั่วประเทศ มีจำนวน 4.6 ล้านครัวเรือน คือ มีชาวนาประมาณ 16-18 ล้านคน มีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 62 ล้านไร่  ซึ่งสถานะของชาวนาในประเทศไทยเป็นฐานรากหญ้า อยากให้ฝ่ายต่างๆ ให้ความสำคัญกับเกษตรกร เพราะถ้าไม่มีชาวนา ก็ไม่มีข้าวรับประทาน ไม่มีการส่งออก

สถานะชาวนา เหมือนลูกที่ถูกลืม แล้วหากพรรคการเมืองไหนอยากจะช่วยอยากให้ลงมาดูว่า เราต้องการอะไร ลำบากตรงไหน เพราะปัจจุบันชาวนาเหมือนโดนถูกกระทำ โดนตัดงบ พอจะถึงมือชาวนาจริงกลับถูกเบียดบังไป ซึ่งชาวนาก็ไม่พูด และวันนี้ที่กำลังต่อสู้ในโครงการที่ชาวนาพึงจะได้รับ แต่กลับไม่ได้รับก็อยากให้นักการเมืองมาดู แล้วมาติดต่อกับผมโดยตรง ผมจะอธิบายให้ฟังว่าเป็นอย่างไร

ต้นทุนชาวนา สูงมาก ผมไม่ขอมาก ขอไร่ละ 1,000 บาท สูงสุด 20 ไร่   ให้ช่วยมาเบื้องต้น เพราะเราจะไปต่อยอดที่ลงทุนไปแล้วในตอนนี้ ซึ่งสมาคมกำลังตรวจสอบอยู่ที่ภาครัฐนำเงินนโยบายออกมานี้ต่อเนื่อง 3 ปีแล้ว สูงสุดได้รับครัวเรือนละ 2 หมื่นบาท ชาวนาขอแค่นี้ อยู่ได้แล้ว ไม่ขอไปมากกว่านี้


  เเละ นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ชี้รอบ 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ไทยเผชิญ 6 คลื่นใหญ่ที่ต้องฝ่าฟันไปให้รอด  คลื่นลูกที่ 1 ดิจิทัล ดิสรัปชั่น (Digital Disruption) คลื่นลูกที่ 2 สงครามการค้า (Trade War) ระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีน คลื่นลูกที่ 3 โควิด-19 (COVID-19)  คลื่นลูกที่ 4 สงครามรัสเซีย-ยูเครน  คลื่นลูกที่5ภาวะถดถอย (Recession) และคลื่นลูกที่ 6 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) พร้อมชี้ว่า ภายใต้ทุกวิกฤติยังมีโอกาสสำหรับประเทศไทย จี้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้ทัน