| On 2 years ago

แนะเคล็ดลับ ปลูก”อะโวคาโด” ให้ได้ผลดก ไม่ต้องปลูกบนดอยสูง

อะโวคาโด้ เป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ ขนาด กลางถึงใหญ่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจของไทยอีกชนิดหนึ่ง ที่หลายคนอาจเข้าใจผิดว่า ผลไม้ชนิดนี้ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยเคล็ดล็บที่จะปลูกอะโวคาโด้ให้ได้ผลนั้นเราต้องเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับพืนที่

สายพันธุ์อะโวคาโด ที่นิยมปลูกในประเทศไทย

ㆍพันธุ์แฮสส์ (Hass) เป็นพันธุ์การค้าอันดับ 1 ของโลก(อร่อยสุด ผลแพงสุด) เป็นพันธุ์เผ่ากัวเตมาลัน ลักษณะผลรูปไข่ ผิวผลขรุขระมาก ผิวสีเขียว เมื่อสุกอาจเป็นสีเขียวเข้มหรือม่วงเข้ม ผลมีขนาดเล็ก น้ำหนัก 200-300 กรัม เนื้อผลสีเหลือง มีไขมันประมาณ20 เปอร์เซ็นต์ เมล็ดมีขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เก็บเกี่ยวผลได้ในเดือนพฤศจิกายนแต่พันธุ์แฮสส์ มีปัญหาหากความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เพียงพอจะทำให้ผลผลิตไม่ค่อยดี

พันธุ์บูธ 7 (Booth-7) เป็นลูกผสมระหว่างเผ่ากัวเตมาลัน และเวสต์อินเดียนผลลักษณะค่อนข้างกลม ขนาดกลาง น้ำหนัก 300-500 กรัม ผิวผลขรุขระเล็กน้อยสีเขียว เปลือกหนา เนื้อสีเหลืองอ่อน รสดี เมล็ดขนาดกลาง มีไขมัน 7-14เปอร์เซ็นต์ ช่วงเก็บเกี่ยวผลประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม

พันธุ์บูธ 8 (Booth-8) ลักษณะผลรูปไข่ ขนาดเล็กถึงกลาง น้ำหนักประมาณ 270-400 กรัม ผิวผลขรุขระเล็กน้อย สีเขียว เปลือกหนา เนื้อสีครีมอ่อนรสชาติพอใช้ มีไขมัน 6-12 เปอร์เซ็นต์ เมล็ดมีขนาดกลางถึงใหญ่อยู่ในช่องเมล็ดแน่น ฤดูเก็บเกี่ยวประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม

พันธุ์ปีเตอร์สัน (Peterson) ลักษณะผลค่อนข้างกลม มีขนาดเล็กถึงขนาดกลาง น้ำหนัก 200-300 กรัม เนื้อผลสีเหลืองอมเขียว รสดีเมล็ดใหญ่อยู่ในช่องเมล็ดแน่น เป็นพันธุ์เบา เก็บเกี่ยวผลได้ในเดือนกรกฏาคม-สิงหาคม พันธุ์นี้เป็นพันธุ์ที่นิยมที่สุดและมีคุณสมบัติที่ดี

การปลูกอะโวคาโด้

อะโวคาโด้  เป็นพืชชอบดินระบายน้ำดี ไม่ทนน้ำท่วมขัง ควรปลูกในที่ที่ไม่มีน้ำท่วมขัง  หรือควรยกร่องปลูก  ควรปลูกช่วงต้นฤดูฝน  แต่สามารถปลูกได้ทั้งปี ถ้ามีระบบชลประทาน   ระยะปลูก  8×6 เมตร ถึง 8×8 เมตร

 

การปลูก ก่อนปลูกให้นำต้นพันธุ์ ออกไว้กลางแจ้ง เพื่อปรับสภาพสัก 2-3 วัน ขุดหลุมขนาดกว้างกว่าดินที่มากับต้นพันธุ์ เล็กน้อย  นำต้นลงปลูกโดยให้โคนต้นสูงเท่ากับหรือสูงกว่าระดับผิวดินเล็กน้อย  เพื่อป้องกันปัญหาโคนเน่า กลบดิน แล้วใส่ ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยโวก้าอินทรีย์ 1 กำมือ  โรยบนดิน  ค้ำต้นด้วยไม้ไผ่   ใช้ฟาง  แกลบ หรือเศษไม้  คลุมรอบโคนต้น เพื่อรักษาความชุ่มชื้น   ให้น้ำทุกวันวันละ 15 ลิตร หรือวันเว้นวัน วันละ 30 ลิตร จนถึงอายุประมาณ 1 ปี  จึงลดการให้น้ำเหลือ สัปดาห์ละครั้ง  สำหรับต้นใหญ่ให้น้ำทุก 15 วัน  การป้องกันโคนต้นเน่า

 

สำหรับอะโวคาโด้ที่เสียบยอดนั้น   ถ้าดูแลดีจะให้ผลผลิตตั้งแต่ปีที่ 3 ส่วนอะโวคาโด้เพาะเมล็ดจะให้ผลผลิตตั้งแต่ปีที่ 8   หากต้นยังไม่โตพอ ในช่วงปีแรก ๆ ควรปลิดผลทิ้งเพื่อเร่งการเจริญเติบโตทางต้นให้เต็มที่เสียก่อน

 

การตัดแต่งกิ่ง  เมื่ออะโวคาโด้มีความสูงเลยเข่าขึ้นมาให้ตัดยอดทิ้งให้เหลือแต่ตอ  จะทำให้อะโวคาโด้แตกยอดขึ้นมาใหม่ 3-4 ยอด  ในช่วงการเจริญเติบโต ให้ตัดกิ่งแห้ง เป็นโรค กิ่งทับซ้อนกัน กิ่งบังแสง กิ่งกระโดง ออก  โดยเน้นให้แผ่ไปด้านข้าง และตัดให้ทรงต่ำเพื่อสะดวกในการเก็บเกี่ยว  การตัดแต่งกิ่งจะทำอีกครั้ง หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว โดยตัดกิ่งแห้ง เป็นโรค และช่อของกิ่งผล (ควั่น) ที่ติดอยู่บนต้น  หลังจากตัดแต่งกิ่งแล้วก็ให้ปุ๋ยโวก้าอินทรีย์ ร่วมกับปุ๋ยยูเรีย เพื่อบำรุงต้น

โรคที่สำคัญในอะโวคาโด

คือโรครากเน่า  เมื่อเกิดแล้วบริเวณปลายกิ่งจะเหี่ยวจนถึงโคนต้น ป้องกันโดยการระบายน้ำให้ดี และใช้ต้นตอทนโรค คือพันธุ์ Duke-7   สำหรับกิ่งพันธุ์ในโรงเรือน ผสม เด็กซอน (Dexon)  20ppm ใส่ในน้ำรดกิ่งพันธุ์  อีกโรคคือ โรคแอนแทรกโนส  ซึ่งเข้าทำลายได้ทั้งใบและผล  จะสังเกตุได้จากจุดสีน้ำตาล บริเวณใบ  การป้องกัน เมื่อมีการแตกใบอ่อนแล้วให้ฉีด คาร์เบนดาซิน หรือไซเปอร์เมททริน เพื่อป้องกันโรค แมลง

 

การเก็บเกี่ยวผลผลิต

โดยธรรมชาติแล้วอะโวคาโด จะไม่สุกบนต้น แต่จะสุกหลังจากที่เก็บเกี่ยวผลออกจากต้นแล้ว ปกติจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์  ซึ่งหมายความว่า หลังจากเก็บผลจากต้นแล้ว เราต้องทิ้ง หรือบ่ม อะโวคาโดไว้ที่อุณหภูมิห้อง 1 สัปดาห์ก่อนนำมารับประทาน  

การเก็บ ผลอะโวคาโด ที่อ่อนเกินไป นอกจากจะมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันน้อยแล้ว ยังทำให้ ไม่สามารถบ่มอะโวคาโดให้สุกได้ คือผลอาจจะเน่าไปเลยโดยที่ยังไม่สุก  ดังนั้นเกษตรกรควรมีหลักในการสังเกตุเพื่อเก็บผลผลิตที่แก่เพียงพอ  นอกจากนี้ เรายังสามารถ ทิ้งผลอะโวคาโด ที่แก่ ให้อยู่บนต้นได้อีกระยะหนึ่ง หากเก็บไม่ทัน หรือต้องการรอเวลา แต่ทั้งนี้ ขึ้นกับแต่ละสายพันธุ์ด้วย   

การเก็บผลต้องให้ขั้วผลติดกับผลด้วย เพราะหากขั้วผลหลุดจากผล จะทำให้ผลเสียหายง่ายขณะบ่มให้สุก  วิธีหนึ่งในการตรวจสอบว่าผลอะโวคาโด พร้อมเก็บเกี่ยวหรือไม่ ให้เก็บผลจากจุดต่าง ๆของต้น มา 6-8 ผล จากนั้น ผ่าผลเพื่อดูเยื่อหุ้มเมล็ด หากเยื่อหุ้มเมล็ดเป็นสีน้ำตาลทั้งหมด แสดงว่าผลแก่พร้อมเก็บเกี่ยวได้  ทั้งนี้ต้องระวังด้วยว่า อะโวคาโด อาจมีการออกดอก 2 ชุด ทำให้ผลในต้นเดียวกัน แก่ไม่เท่ากัน ควรตรวจสอบจากลักษณะผลภายนอกด้วย

 

วิธีการบ่มอะโวคาโด ให้สุก

เมื่อเราเก็บ อะโวคาโด จากต้นแล้ว จำเป็นต้องมีการบ่มเพื่อให้สุก ก่อนรับประทาน การบ่มนั้นทำได้ง่ายๆ โดยการทิ้งผลไว้ที่อุณหภูมิห้อง  แต่หากต้องการเร่งให้ผลสุกเร็วขึ้น  ให้ใส่ผลอะโวคาโดในถุงกระดาษสีน้ำตาล แล้วปิดปากถุง หากไม่มีก็ห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ก็ได้ แล้วทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง  ระยะเวลาอาจเพียงแค่ 1 คืน หรือหลายวัน ขึ้นกับอะโวคาโดแต่ละผล   การทดสอบว่าผลสุกหรือยัง ให้ลองเอามือบีบผลเบา ๆ ถ้าผลบีบได้ ก็แสดงวาสุก  หรืออีกวิธีให้กดบริเวณขั้วผลเบา ๆ ถ้ากดได้แสดงว่าสุก

หากผลสุกแล้วให้นำผลอะโวคาโด แช่ตู้เย็นเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา  ไม่ควรนำผลดิบที่ยังไม่สุกแช่ตู้เย็นเพราะอาจทำให้ผลไม่สุกแล้วเน่าไปเลยก็ได้