| On 2 years ago

"ปชป." ถอดบทเรียน "อินแทวอน" เตรียมรับมือช่วงส่งท้ายปี แห่จัดงานเพียบ

"ปชป." ถอดบทเรียนโศกนาฎกรรม "อินแทวอน" อุดช่องโหวประเทศไทย ส่งท้ายปี หลายพื้นที่แห่จัดงานฉลอง จี้ต้องมีเจ้าภาพงาน ระบบแจ้งเตือนทันสมัย

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2565 ที่พรรคประชาธิปัตย์ ทีมยุทธศาสตร์ได้มีการจัดเสวนาเรื่อง "โศกนาฏกรรมอิแทวอน..ย้อนมองไทย" นำโดยนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. นายชนินทร์ รุ่งแสง อดีต ส.ส.กทม. รวมถึง นายพันธ์พิสุทธิ์ นุราช "กัปตันไมเคิล" คนรุ่นใหม่ของพรรค ซึ่งไปร่วมงานวันฮาโลวีน ที่อิแทวอน ประเทศเกาหลีใต้

นายองอาจ กล่าวแสดงความเสียใจต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งเห็นว่า ปัญหาสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ พรรคประชาธิปัตย์ตระหนักถึงความสำคัญควรจะต้องมาร่วมกันหาแนวทางป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยขึ้นอีก ไม่ว่าจะในประเทศใดในโลกก็ตาม โดยเฉพาะประเทศไทย 

ด้าน "กัปตันไมเคิล" เล่าย้อนบรรยากาศในงานเทศกาลฮาโลวีนบนถนนอินแทวอนว่า ก่อนเกิดเหตุ 1 วันนั้น ตนนัดพบปะเพื่อนที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในย่านนั้น มีสภาพแออัดมากอยู่แล้ว มีเสียงเพลงที่ดังอึกทึกคึกโครม เต็มไปด้วยความสนุกสนาน อยู่ในช่วงสุดสัปดาห์และเทศกาลฮาโลวีน ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 – 31 ต.ค. 65 ตนจึงยกเลิกนัดแล้วเดินทางไปที่อื่น เมื่อทราบเหตุในวันต่อมาก็รู้สึกตกใจ และไม่คิดว่าจะเกิดเหตุรุนแรงจนถึงมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก 

 

จากเหตุการณ์ดังกล่าวมองว่า ประเทศไทยต้องมีการจัดการเรื่องความปลอดภัยอย่างเป็นระบบ ผู้ว่าฯ กทม. คนเดียวอาจไม่สามารถติดตามดูแลได้ทั้ง 50 เขต ดังนั้นจึงควรมีผู้ช่วยในแต่ละเขตเพื่อศึกษารายละเอียดการจัดงานทั้งในอดีตและปัจจุบันว่ามีความเสี่ยงอย่างไร โดยประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ผู้ร่วมงาน สำนักงานเขต ตำรวจ เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย โรงพยาบาล เพื่อนำมาประมวลผลและหามาตรการช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงทีเมื่อต้องเผชิญเหตุ

 

นอกจากนี้ทุกคนต้องหันมาตระหนักเรื่องความปลอดภัย เพราะไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ไฟไหม้ผับชลบุรี ไฟไหม้ผับซานติก้า เราจำเป็นต้องตระหนักรู้ และต้องมีทัศนคติเรื่องความปลอดภัยที่ต้องเริ่มจากตัวเอง

ขณะที่ นายชนินทร์ มองว่า ประเทศเกาหลีใต้เอง แม้จะมีแผนเผชิญเหตุอยู่แล้ว แต่ยังเกิดเหตุสุดวิสัย เนื่องจากงานในวันดังกล่าวไม่มีเจ้าภาพจัดงานอย่างชัดเจน ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องถอดบทเรียนเพื่อเสนอให้ทุกฝ่ายนำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพราะกำลังจะมีเทศกาลสำคัญหลายงาน 

 

จึงเสนอให้ทุกงานต้องมีเจ้าภาพที่ชัดเจน หากไม่มีเอกชนเป็นเจ้าภาพ ภาครัฐก็จะต้องเป็นเจ้าภาพ เพื่อเตรียมงาน เตรียมสถานที่ โดยเฉพาะการสำรวจเส้นทาง เข้า-ออกงานให้ชัดเจน เตรียมการบริหารจัดการพื้นที่และจำกัดจำนวนคน ไม่ให้เกิดการแออัดมากเกินไป และควรมีคู่มือและอุปกรณ์ช่วยชีวิต อบรมพนักงานเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ได้ทันท่วงที 

ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า โลกเรามักเกิดอะไรที่ไม่คาดคิด เกาหลีเสียเหลี่ยม ทั้งที่เทคโนโลยีล้ำสมัยมาก ได้ตั้งข้อสังเกตสำคัญ 3 ข้อถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมและอยากให้ประเทศไทยได้ศึกษาอย่างจริงจัง คือ 
1. ขาด Safety Commander ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ว่าฯ อาจจะมอบหมายให้รองผู้ว่าฯ คนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงานพิเศษที่มีความรอบรู้ เชี่ยวชาญ เข้ามากำกับดูแลจัดการเรื่องความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างเข้มข้นจริงจัง 
2. เหตุการณ์อิแทวอนมีการโทรแจ้งเตือนถึง 11 ครั้ง ภายใน 2  ชั่วโมง ดังนั้นต้องปิดสถานที่ ไม่ให้มีคนเข้างานเพิ่ม แต่ไม่ได้ทำ ทำให้เห็นว่าการเตือนภัยของเกาหลีใต้นั้นล้มเหลว ต่อให้มีเทคโนโลยีทันสมัยแค่ไหนก็ตาม  
3. การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บล่าช้า ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 150 คน  

แนวคิดการจัดการสำคัญ 3 ประการ   

1.แก้ปัญหาโครงสร้าง เช่น หากทางเข้าสถานที่พัง ก็จะต้องรีบซ่อมแซม

2. นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตรวจสอบการใช้งาน เตือนแล้วรู้ทันที ลดความสูญเสีย

3. ใช้กฏหมายอย่างเข้มข้น หากมีความจำเป็นก็สามารถประกาศเคอฟิวได้ 

" การซักซ้อมเหตุเป็นสิ่งสำคัญ ประเทศสิงคโปร์จะมี LTA หรือ Land Transportation Authority มีอำนาจดูแลสนามบิน รถไฟฟ้าใต้ดิน ท่าเรือ ครบเบ็ดเสร็จ มีคนคอยสอดส่องดูแลในทุกๆ เมือง ตนเคยเขียนบทความเกี่ยวกับจราจรกรุงเทพมหานคร ควรมี Traffic Manager จัดการเรื่องจราจร หลาย ๆ ประเทศมี ไม่แน่ใจว่าเกาหลีใต้มีหรือไม่ ถ้ามี แสดงว่าล้มเหลว การจัดการให้มีประสิทธิภาพต้องมีเทคโนโลยีการแจ้งเตือน วงจรปิดอัจฉริยะ มี safety manager ที่มีความรอบรู้ เชี่ยวชาญ มีอำนาจหน้าที่เข้ามากับดูแล" ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website –  www.komchadluek.net
Facebook – https://www.facebook.com/komchadluek