| On 2 years ago

รู้จัก "พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน" ก่อนต้อนรับคู่สมรส ผู้นำ APEC 2022 18 พ.ย.นี้

ทำความรู้จัก "พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน" จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สถานที่ต้อนรับคณะคู่สมรสผู้นำ APEC 2022 ที่จะเดินทางไปเยี่ยมชม ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565

ในโอกาสประเทศไทย จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ เอเปค 2565 หรือ APEC 2022 ระหว่างวันที่ 18 – 19 พฤศจิกายน 2565 ที่จะถึงนี้ ซึ่งจะมีผู้นำและคู่สมรส จากประเทศสมาชิกและแขกพิเศษมาร่วมงานมากมาย โดยหนึ่งในกิจกรรมสำคัญคือการเยี่ยมชมสถานที่สำคัญ ของทางคณะ คู่สมรส ในช่วงเวลาที่คณะผู้นำเขตเศรษฐกิจเข้าร่วมประชุม และวันนี้ คมชัดลึก ออนไลน์ จะพาไปทำความรู้จักกับ พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งถูกจัดให้เป็นสถานที่ต้อนรับคณะคู่สมรสผู้นำ APEC 2022 ที่จะเดินทางไปเยี่ยมชม ในวันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2565

 

 

 

ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับศักยภาพและความสำเร็จของประเทศไทย ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยได้รวบรวมผลงานประณีตศิลป์ชิ้นเอกของช่างจากสถาบันสิริกิติ์ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตั้งแต่เริ่มทำในระยะแรกๆ จนถึงผลงานชิ้นเอก นำมาจัดแสดงให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ชม

 

ภายใน พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน แบ่งการจัดแสดงเป็นหมวดหมู่ โดยมีเครื่องบรรยายส่วนตัว(Audio Guide) พร้อมจอบรรยายและจอทัชสกรีนแสดงข้อมูลต่างๆ ของชิ้นงาน

 

 

 

โถงทางเข้า จัดแสดงห้องปีกแมลงทับสีเขียวเหลือบรุ้งวิจิตรสวยงาม ผนังตกแต่งด้วยงานสานย่านลิเภาสอดปีกแมลงทับ

 

ห้องนิทรรศการใหญ่ จัดแสดงงานฝีมือ อาทิ เครื่องเงินเครื่องทอง, ลงยาสี, หมู่เรือพระที่นั่งจำลองจากขบวนเรือพระราชพิธี ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงศ์ เรือพระที่นั่งมงคลสุบรรณ และเรือพระที่นั่งศรีประภัศรไชย ซึ่งกลางลำเรือประดิษฐานบุษบกทองคำประกอบฉัตร และฉากไม้แกะสลักเรื่องสังข์ทองและหิมพานต์

 

 

ชั้น 2 จัดแสดง

 

  • ฉากถมทองขนาดใหญ่เรื่อง "รามเกียรติ์" บทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย วรรณคดีสำคัญที่ถ่ายทอดผ่านงานถมทองในรูปแบบ 3 มิติ
  • ฉากขนาดใหญ่ 2 ด้าน เป็นงานปักเส้นไหมด้วยวิธีโบราณ โดยใช้เส้นไหมน้อยหรือเส้นเล็กที่สุดของรังไหม ปักไล่ระดับและแสงเงาให้เกิดเป็นภาพที่มีมิติงดงาม ประดับด้วยดิ้นทองเลื่อมระยิบและแก้ว ด้านที่หนึ่งเล่าเรื่อง "หิมพานต์" ด้านที่สองเล่าเรื่อง "อิเหนา"
  • บุษบกมาลา จำลองแบบจากพระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง
  • พระที่นั่งจำลอง เช่น พระที่นั่งพุดตานถมทอง สร้างจำลองแบบพระที่นั่งพุดตานจำหลักไม้วังหน้า และพระที่นั่งพุดตานคร่ำทอง สร้างจำลองแบบพระที่นั่งพุดตานจำหลักไม้ที่พระบรมมหาราชวังเป็นต้น

 

ติดตาม คมชัดลึก คลิก

Line: https://lin.ee/qw9UHd2

YouTube: https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w