| On 2 years ago

"วัดบางหลวง" วัดมอญแต่อดีต และพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ของ "ชาวมอญ" ย่านปทุม

"วัดบางหลวง" วัดมอญที่สำคัญของเมืองปทุม สร้างตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาประดิษฐาน พระปทุมธรรมราช พระพุทธรูปประจำจังหวัดปทุมธานีที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ ของ "ชาวมอญ" ย่านเมืองปทุม

"วัดบางหลวง" วัดเก่าแก่ที่สวยงาม ในจ.ปทุมธานี เป็นวัดทีมีอายุกว่า 300 ปี สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2230  จากบันทึกของ พระรามัญมุนี (สุทธิ์ ญาณรสี) อดีตเจ้าอาวาสวัดบางหลวง และอดีตเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีได้กล่าวเอาไว้ว่า วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัย "กรุงศรีอยุธยา" โดยกล่าวไว้ว่า ในพุทธศักราช 2246 สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 ทรงพระนามเดิมว่า "พระพุทธเจ้าเสือ" ได้ทรงสร้างวัดนี้ขึ้น ที่ต.ปากคลองบางหลวงฝั่งใต้ พระราชทานนามว่า "วัดสิงห์" ส่วนชื่อ "วัดบางหลวง" มีการสันนิษฐานกันว่า เมื่อครั้งมีการขุดคลองลัดเตร็ดใหญ่ พบพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน แล้วเอาหลบซ้อนไว้ในวัด เรียกว่าบังไว้ไม่ให้หลวงเห็น จึงพูดติดปากว่า บังหลวง เมื่อเวลาผ่านเลยมานานคำว่า บังหลวง จึงกลายเป็น บางหลวง

แต่เดิมมี "วัดบางหลวง" อยู่ 2 วัด คือ วัดบางหลวงนอก กับวัดบางหลวงใน วัดบางหลวงในคือวัดบางหลวงที่อยู่ปัจจุบันนี้ ส่วนวัดบางหลวงนอก อยู่ใกล้แม่น้ำและได้ทรุดโทรมปรักหักพังร้างไปหมดแล้ว 

"วัดบางหลวง" ได้รับการบูรณะในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 พระองค์ได้โปรดเกล้าให้พระมอญมาเป็นพระราชสมภารเจ้าวัดฝ่ายรามัญ

 


 

"วัดบางหลวง" มีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญและเก่าแก่อยู่หลายจุด แต่ละจุดนั้นสร้างขึ้นในยุคสมัยที่แตกต่างกันไป

อุโบสถของ "วัดบางหลวง" เป็นอุโบสถทรงไทย สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา มีความพิเศษ คือ ไม่มีเสาและใช้วัสดุก่อสร้างแบบโบราณ มีใบเสมาหินทราย จิตรกรรมฝาผนังในอุโบสภ เป็นเรื่องราวพุทธประวัติ ทศชาติชาดก ที่วาดขึ้นเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ตลอดมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่จะสังเกตุได้จากสีคราม และก้อนเมฆที่เป็นศิลปะแบบเรียลลิสติก ซึ่งเป็นศิลปะในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ยังมีภาพเรื่องราวของวิถีชุมชน "ชาวมอญ" แบบของจ.ปทุม ที่จะเห็นได้วิถีชีวิตที่ผูกพันกับริมน้ำ และลำธาร

ผนังหุ้มกลองหลังพระประธานแบ่งการเล่าเรื่องเป็น 2 เรื่อง คือ ตอนพระพุทธเจ้าโปรดพระมารดา และตอนพระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา เป็นรูปแบบที่หาดูได้ยาก

ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณที่สำคัญ คือ "หลวงพ่อใหญ่" พระประธานปางมารวิชัย และ "หลวงพ่อเพชร" พระพุทธรูปเชียงแสน ที่นับว่าเป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในจังหวัดปทุมธานี  เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร  หล่อด้วยสัมฤทธิ์ตันทั้งองค์ สมัยเชียงแสน มีหน้าตักกว้าง 25 นิ้ว สูง 39 นิ้ว ชายสังฆติสั้นอยู่เหนือพระถัน พระอุระใหญ่งามอย่างสิงห์ เป็นสัญลักษณ์ของพระสิงห์ 1 แต่ยอดพระเมาลีเป็นรัศมีเปลว สันนิษฐานว่ามีการบูรณะซ่อมแซมใหม่ในช่วงหลัง เนื่องจากพระในสมัยเชียงแสน จะมียอดพระเกศ เป็นทรงดอกบัว  เป็นพระพุทธรูป ที่ถูกค้นพบขณะที่ขุดคลองลัดเตร็ดใหญ่ ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ประมาณ พ.ศ. 2151 ความพิเศษของหลวงพ่อเพชรคือ สามารถขยับพระหัตรซ้ายได้ มีการสันนิษฐานว่า ในอดีตพระเจ้าสายน้ำผึ้ง ได้เดินทางมาจากเหนือได้มีโอกาสมาพูดคุยกับพระรามัญที่วัดแห่งนี้ ได้อัญเชิญหลวงพ่อเพชรมา และถูกซ่อนไว้ และมีการขุดเจอเมื่อครั้ง มีการขุดคลองเตร็ดใหญ่ และมีบางส่วนที่หายไปชาวบ้านจึงได้นำมาซ่อมแซมจึงกลายเป็นศิลปะแบบผสมผสาน จากแบบล้านนาหรือเชียงแสนกลายมาเป็นศิลปะแบบร่วมสมัย

นอกจากนี้ยังประดิษฐานพระปางห้ามญาติ และปางห้ามสมุทร ซึ่งเป็นพระพุทธรูป ที่มีพุทธลักษณะ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องจักรพรรดิ

 

นอกจากนี้ "วัดบางหลวง" ยังมีพระพุทธรูปสำคัญของชาวจังหวัดปทุมธานี คือ "พระปทุมธรรมราช" พระพุทธรูปปางขัดสมาธิเพชร หล่อด้วยโลหะผสม หน้าตักกว้าง 3 คืบ พระสุคตประมาณ 40 นิ้ว สูง 50 นิ้ว ห่มจีวรสังฆาฏิพาด ตั้งอยู่บนฐานบัว สูง 8 นิ้ว ยาว 47 นิ้ว วัดความสูงถึงยอดพระเกตุมาลาได้ 65 นิ้ว เป็นพระประจำจังหวัดปทุมธานี สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 โดย พระศาสนโสภณ (อ่อน) และ พระงอก บนพระอังสามีลักษณะยื่นออกมา ประดิษฐานไว้ในกุฏิเก่าของท่านเจ้าคุณพระราชสุเมธาภรณ์

 

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีความเป็นมอญพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งให้สร้างพระพุทธรูปประจำเมืองไว้ เป็นความเกี่ยวเนื่องยึดโยงของ "ชาวมอญ" ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ปทุมธานี นนทบุรี นครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง) และเมืองสมุทรปราการ

โดยในขณะนั้นผู้นำ "ชาวมอญ" ร่วมกันสร้างพระประจำเมืองพร้อมกัน 4 องค์ ได้แก่ พระปทุมธรรมราช พระพุทธรูปประจำเมืองปทุมธานี พระนนทนารถชินวร พระพุทธรูปประจำเมืองนนทบุรี พระนครศาสดา พระพุทธรูปประจำเมืองนครเขื่อนขันธ์​ และ พระสมุทรมหามุนินทร์ พระพุทธรูปประจำเมืองสมุทรปราการ พระพุทธรูปทั้ง 4 องค์มีลักษณะเป็นแบบเดียวกันเป็นศิลปะผสมผสานในสมัยรัตนโกสินทร์ มีจีวรริ้วยับเป็นแบบ realistic แต่ยังคงความเป็นศิลปะสมัยต้นรัตนโกสินทร์

 

สำหรับ "พระปทุมธรรมราช" ขึ้นชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ หากได้ไปขอพรองค์ท่านก็จะได้ประสบความสำเร็จในเรื่องหน้าที่การงาน และความเจริญรุ่งเรือง 

ด้านหน้าอุโบสถ มีพระเจดีย์ทรงมุเตา เอกลักษณ์ของวัดมอญ ที่จำลองมาจาก เจดีย์ชเวดากอง และพระธาตุมุเตา
และยังมีเจดีย์ที่บรรจุอัฐิของอดีตเจ้าอาวาสซึ่งเคยเป็นเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี และประดับด้วยเสาหงส์ เป็นสัญลักษณ์ของวัดมอญ

 

 


และอีกหนึ่งความสวยงามของวัดบางหลวงคือ สะพานโค้ง 100 ปี สะพานเก่าแก่ที่ไม่มีเสาค้ำด้านล่าง ที่ยังคงแข็งแรงมาจนถึงปัจจุบัน