| On 2 years ago

จับตาแผน "GMM GRAMMY" รุกสร้าง Ecosystem หนุนธุรกิจเพลง ให้เติบโตแบบยั่งยืน

เปิดแผนธุรกิจให้จับตามมองกันอีกแล้ว สำหรับ "GMM GRAMMY" ที่ล่าสุดได้ออกมาชี้เป้า รุกสร้าง Ecosystem หนุนธุรกิจเพลง ให้เติบโตแบบยั่งยืน พร้อม ๆ กับชูเหล่าศิลปินที่ปั้นดัน ในตลาดแฟนคลับคนรุ่นใหม่กลุ่มวัยรุ่นในภาคอีสาน รองรับกระแสลูกทุ่งอีสานเลือดใหม่

โควิด-19 คลี่คลาย ส่งผลให้อุตสาหกรรมดนตรีระดับโลก เริ่มฟื้นตัวและกลับมาเติบโตอีกครั้ง ซึ่งเทรนด์ตลาดเพลงโลกในปัจจุบันได้แสดงให้เห็นว่า กระแสเพลงเคป๊อป ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้คนเริ่มให้ความสนใจ กลับมาฟังเพลงเก่ามากขึ้น รวมไปถึง แพลตฟอร์ม TikTok กลายเป็นสื่อที่ช่วยโปรโมทเพลงผ่านวีดีโอขนาดสั้นได้เป็นอย่างดี  อีกทั้งคอนเสิร์ตและมหกรรมดนตรีต่างๆ เริ่มกลับมาแสดงอีกครั้ง

สิ่งเหล่านี้สะท้อน ให้เห็นว่าอนาคตของอุตสาหกรรมดนตรี เริ่มที่จะสดใสและมีทิศทางเป็นไปในเชิงบวก จากปัจจัยเหล่านี้ทำให้ "GMM GRAMMY" มองเห็นโอกาสในการต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมเพลงไทย รวมทั้งนำเพลงไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมดนตรีระดับโลก โดยหวังให้เป็น Soft Power ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างเม็ดเงินจำนวนมหาศาลให้กับประเทศไทย

ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการตลาด จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)  คุณนรมน ชูชีพชัย เปิดเผยว่า "ในด้านของอุตสาหกรรมเพลงไทย คนไทยยังนิยมฟังเพลงไทยมากถึง 78% ส่วน 22% เป็นเพลงต่างชาติ โดยมีสัดส่วนประเภทเพลงลูกทุ่งถึง 48% และ 34% เป็นเพลงกระแสหลัก อย่าง ป๊อป, ร็อค, เรโทร, เพลงเก่า ที่เหลือ 18% จะเป็นเพลง กระแสใหม่ที่กำลังมาแรงประเภทไอดอล ฮิปฮอป อินดี้

มาร์เก็ตแชร์ของแกรมมี่ในตลาดเพลงไทยตามประเภทแนวเพลง เรามีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 50% ในทุกประเภท โดยเฉพาะ เพลงร็อคเรามีสัดส่วนถึง 91% ส่วนประเภทอื่นๆอย่าง เพลงในกระแส  ประเภท ป๊อป, เรโทร และเพลงเก่าอยู่ที่ 58% ส่วนเพลงลูกทุ่งอยู่ที่ 63% แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจเพลงของแกรมมี่ยังได้รับความนิยม และสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

เราจึงเดินหน้าสร้าง Ecosystem ให้กับธุรกิจเพลงตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ดังนี้

  • กระบวนการสรรหา : เปิดรับสมัครออดิชั่นเฟ้นหาเด็กรุ่นใหม่ที่มีพรสวรรค์ไม่ว่าจะเป็น ป๊อป ไอดอล ร็อค, อินดี้ ลูกทุ่ง และ ไทดอล นำมาฝึกฝนเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการเป็นศิลปินฝึกหัด อีกทั้งเพื่อเสริมกำลัง ในการพัฒนาคนเข้าสู่วงการเพลงมากขึ้
  • กระบวนการพัฒนา : ศิลปินฝึกหัดทุกคนจะได้รับการพัฒนาทักษะด้านต่างๆจากสถาบันสอนวิชาชีพศิลปินด้วยมาตรฐานระดับโลก คือ จีเอ็มเอ็ม อะคาเดมี่ เพื่อมุ่งสู่การเป็นศิลปินมืออาชีพที่ได้มาตรฐานระดับสากล
  • กระบวนการสร้างสรรค์ผลงาน : เมื่อฝึกฝนจนผ่านมาตรฐาน International Quality Training Program และมีศักยภาพในการเป็นศิลปินมืออาชีพ ซึ่งในการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินแต่ละคน เรามุ่งดึงศักยภาพ

และความเป็นตัวตนของศิลปินออกมาทั้งสไตล์เพลง คาแรคเตอร์  จนพร้อมที่จะออกสู่ตลาด เมื่อออกไปแล้วเรายังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายสู่การเป็นมืออาชีพ เป็นซุปเปอร์สตาร์ต่อไป

นอกจากนี้ยังได้มีแผนเปิดตัวค่ายเพลงเพิ่มเติม เพื่อรองรับความหลากหลาย ทางดนตรีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่ผ่านมาได้มีการเปิดตัวค่ายเพลง "ไทดอลมิวสิค" เพื่อเจาะกลุ่มแฟนคลับคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นวัยรุ่นในภาคอีสาน รองรับกระแสลูกทุ่งอีสานเลือดใหม่ที่กำลังมาแรง ยังมีอีกหนึ่งปัจจัย ที่เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน คือ การสร้างเพลงไทย
ให้ไปสู่ระดับสากล ดังนั้น เราจึงต้องพัฒนาศิลปินให้มีจุดเด่น ประกอบกับพัฒนาเพลงให้มีความหลากหลายทางดนตรีมากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ศิลปินไทยได้ปรากฎสู่สายตาทั่วโลกและนำไปสู่การเป็น Soft Power ที่สำคัญของประเทศ ก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนเข้าประเทศรวมไปถึงอุตสาหกรรมเพลงไทยได้อย่างต่อเนื่อง